ผวจ.ประจวบฯชง มท. เสนอฟันวินัยร้ายแรงไล่ออกหัวหน้าสำนักงานจังหวัด หัวหน้าการเงินปล่อยลูกจ้างสาวโกงงบหลวง 40 ล้าน
จากกรณี น.ส.ขนิษฐา หอยทอง อายุ 28 ปี พนักงานราชการ สำนักงาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถูกแจ้งดำเนินคดีข้อหายักยอกทรัพย์ ปลอมเอกสารของทางราชการ และใช้เอกสารปลอม หลังจากนำเงินงบประมาณของทางราชการกว่า 40 ล้านบาท โอนผ่านระบบการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ GFMIS เข้าบัญชีส่วนตัว และ พบการกระทำความผิด 165 ครั้ง ต่อมาพนักงานอัยการคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 จ.สมุทรสงครามมีคำสั่งปล่อยตัว น.ส.ขนิษฐา หอยทอง พ้นการคุมขังที่เรือนจำกลาง จ.สมุทรสงคราม เนื่องจากครบกำหนดฝากขังครั้งละ 12 วัน จำนวน 7 ผัด รวม 84 วัน
วันที่ 29 กันยายน ผู้สื่อข่าวได้เข้าพบแหล่งข่าวระดับสูง ในคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีการทุจริตเงินงบประมาณ 40 ล้านบาท เพื่อสอบถามความคืบหน้า โดยเปิดเผยว่า หลังจากมีปัญหากรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้นำข้อบกพร่องในระบบไปปรับปรุง และจากการสอบสวนพบว่าปัญหาเกิดจากความบกพร่อง ระหว่างผู้บังคับบัญชาในหน่วยงาน หัวหน้างานการเงินและ น.ส.ขนิษฐา ซึ่งมีความชำนาญเกี่ยวกับระบบบัญชีและการเบิกจ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ จึงได้รับความไว้ใจจากผู้บังคับบัญชามอบคีย์การ์ด 2 ใบให้เก็บไว้ทำการเบิกจ่ายเงิน
“ ปกติคีย์การ์ด 2 ใบ จะมอบให้นางประชิต วงศ์ประภารัตน์ หัวหน้าฝ่ายการเงินและบัญชี เก็บไว้พร้อมกับรหัสผ่าน 1 ใบ นางกัลยารัตน์ นิลอ่อน หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเก็บไว้1 ใบพร้อม 2 รหัสผ่าน เพื่อทำการอนุมัติกับเบิกจ่ายเงินงบประมาณของจังหวัด แต่ด้วยความไว้ใจจึงมอบคีย์การ์ด และรหัสผ่านให้ น.ส.ขนิษฐา ดำเนินการเพียงคนเดียว และเชื่อว่าเงินที่ทุจริตยังมีเหลือนอกระบบอีกจำนวนมาก ส่วนเงินที่ได้คืนมีเพียง 6 ล้านบาท”
แหล่งข่าวระบุว่า กรณีนี้ถือเป็นความบกพร่องของผู้บังคับบัญชา จากนั้นได้ส่งรายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบและ ส่งให้กระทรวงมหาดไทย อาจะแต่งตั้งคณะกรรมการ 2 ชุดหรือให้จังหวัดเข้าร่วม เพื่อสอบวินัยร้ายแรง และ สอบทางละเมิด เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องรับผิดชอบด้วยการชดใช้ค่าเสียหายให้ทางราชการ โดยเกี่ยวข้องกับนางประชิต และนางกัลยารัตน์ หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจในการเบิกจ่ายรวมทั้งหมด 5 คน โดยระดับหัวหน้างานการเงิน และหัวหน้าสำนักงาน หลังการสอบสวนอาจจะต้องถูกดำเนินการทางวินัยข้าราชการร้ายแรง คือให้ออกหรือไล่ออกจากราชการตามข้อสรุปในการสอบข้อเท็จจริง
“ส่วนบุคคลอื่น ก็ต้องรับโทษทางวินัยไมร้ายแรงตามเอกสารหลักฐานที่ปรากฎ และ การทุจริตครั้งนี้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจังหวัด (สตง.)ไม่สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากจะต้องตรวจสอบการทุจริตในจอคอมพิวเตอร์เท่านั้น ขณะที่ระหว่างการสอบสวน น.ส.ขนิษฐายอมรับว่าภูมิใจมากที่ทุจริตงบจำนวนมากและไม่ได้มีท่าทีสะทกสะท้าน “
คณะกรรมการฯ กล่าวอีกว่า หากผลสอบทางละเมิดพบว่ามีความบกพร่อง กรมบัญชีกลางได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการชดใช้ความเสียหายตามสัดส่วนที่กำหนด อาจจะใช้วิธีการหักจากเงินเดือน จากเงินบำเหน็จบำนาญ เพื่อคืนให้ทางราชการครบทั้งหมด ล่าสุดผู้ว่าราชการจังหวัดได้พยายามหาเงินเหลือจ่ายจากโครงการอื่นชดใช้คืนในระบบ คาดว่าภายในปีนี้จะสามารถคืนงบประมาณค่าค้ำประกันสัญญางานประมาณ 12 ล้านบาทที่มีการทุจริตคืนให้ผู้รับเหมา สำหรับสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง ที่ผ่านมาไม่ได้ให้ความร่วมมือในการสอบสวน แต่ปัญหาจากการเบิกจ่ายจาการลงลายมือชื่อปลอมในเช็ค ก็จะต้องถูกดำเนินคดีทางแพ่งด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้คดีดังกล่าวถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีการวิ่งเต้นล้มคดีจากบางฝ่ายหรือไม่ เพราะการทำสำนวนส่งฟ้อง มีการนำข้อมูลจากเอกสารที่มีการสอบข้อเท็จจริงของจังหวัดแทบทั้งหมด และน่าแปลกใจพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อหาหัวหน้าสำนักงานจังหวัด ฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เช่นเดียวกับการแจ้งความคดีอาญากับนางประชิต
“ นอกจากนั้นได้ส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการคดีทุจริตภาค 7 เพื่อสรุปส่งฟ้องในระยะเวลากระชั้นชิดอาจมีเจตนาตัดตอน ก่อนครบกำหนดการฝากขัง น.ส.ขนิษฐา ไม่กี่วัน ทำให้พนักงานอัยการฯไม่สามารถสรุปสำนวนส่งฟ้องได้ทันตามกำหนด และสั่งให้พนักงานสอบสวนทำสำนวนเพิ่มเติม เป็นเหตุให้ น.ส.ขนิษฐาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว “
พิสิษฐ์ รื่นเกษม รายงาน โทร.099 3396 444