ข่าวทั่วไป

วิกฤตสวนทุเรียนคลองลอย 4000 ไร่อีก 5 วันน้ำหมดอ่าง หากทำฝนเทียมแต่ฝนไม่ตกเกษตรกรจ่อเจอทุเรียนยืนต้นตาย หลังเจอภัยแล้งทิ้งช่วง ผลกระทบผลผลิตลดลง 50%

วิกฤตสวนทุเรียนคลองลอย 4000 ไร่อีก 5 วันน้ำหมดอ่าง หากทำฝนเทียมแต่ฝนไม่ตกเกษตรกรจ่อเจอทุเรียนยืนต้นตาย หลังเจอภัยแล้งทิ้งช่วง ผลกระทบผลผลิตลดลง 50%

วันที่ 23 เมษายน นายสุชาติ พูลนาค อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบล( อบต.) ทองมงคล อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ แกนนำผู้ปลุกทุเรียนหมอนทองและปลูกสับปะรดส่งโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อการส่งออกที่ อ.บางสะพาน เปิดเผยว่า ขณะนี้เกษตรกรในพื้นที่ อ.บางสะพาน และ อ.บางสะพานน้อยได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากปัญหาภัยแล้ง ทั้งการปลูกทุเรียน สับปะรด กาแฟ เงาะ ลองกอง เนื่องจากฝนทิ้งช่วงยาวนาน ส่งผลให้ทำให้ขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ไม่มีแหล่งน้ำในธรรมชาติ หากสิ้นเดือนเมษายนนี้ ไม่มีฝนตกจะกระทบกับสวนทุเรียนหมอนทองหลายพันไร่ที่กำลังให้ผลผลิต โดยเฉพาะทุเรียนคลองลอยที่มีชื่อเสียงได้รับความนิยมจากผู้บิโภค มีปัญหาได้รับผลกระทบอย่างหนัก ขณะที่การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับล้งทุเรียนเพื่อส่งผลผลิตออกไปตลาดต่างประเทศ เกษตรกรบางรายอาจต้องคืนเงินค่ามัดจำ เนื่องจากผลผลิตไมเป็นไปตามเป้าหมาย

นายสุชาติ กล่าวว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อป้องกันผลกระทบ ได้ประสานไปยังหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการทำฝนหลวงจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อขอให้นำเครื่องบินจากสนามบินฝ้าย อ.หัวหินไปทำฝนเทียม แต่พบว่าการทำฝนเทียมหลายครั้งยังไม่ประสบผลลำเร็จ เนื่องจากความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศไม่เพียงพอเนื่องจากสภาพร้อนจัด นอกจากนั้นการบินโปรยสารเคมีต่อเนื่องหลายวัน แต่ฝนยังไม่ตกในพื้นที่เป้าหมายด้านทิศตะวันตกของ อ.บางสะพานและ อ.บางสะพานน้อย ยังมีอุปสรรคจากภูมิประเทศฝั่งตะวันออกติดทะเลอ่าวไทยและพื้นที่เทือกเขาตะนาวศรีฝั่งตะวันตกติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้การโปรยสารเคมีเพื่อบังคับทิศทางให้ฝนตกในพื้นที่เป้าหมายทำได้ยากมาก

นางแฉล้ม เรืองทอง อายุ 60 ปี ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำที่หมู่ 8 บ้านคลองลอย หมู่ 8 ต.ร่อนทอง อ.บางสะพาน กล่าวว่า ต้องขอวิงวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์และหน่วยราชการให้เร่งทำฝนเทียม อีก 5 วัน หากฝนไม่ตกที่อ่างคลองลอยซึ่งมีความจุ 2 แสนลูกบาศ์กเมตร (ลบ.ม) ขณะนี้น้ำเหลือติดก้นอ่างไม่มากน้ำจะแห้งทั้งหมด เนื่องจากเจ้าของสวนทุเรียนมากกว่า 4000 ไร่ต้องการใช้น้ำรดต้นทุเรียนที่กำลังให้ผลผลิตและจะออกจำหน่ายในเดือนมิถุนายนนี้ หากน้ำในอ่างแห้งเกษตรกรบางรายจะต้องลงทุนซื้อน้ำไปรดต้นทุเรียน เพื่อป้องกันผลร่วงและขณะนี้บางส่วนพบว่าทุเรียนยืนต้นตาย หลังเจอวิกฤตภัยแล้งรุนแรงสุดในรอบ 4 ปี นางแฉล้ม กล่าวว่า ขณะที่การเจาะบ่อบาดาลจะมีปัญหา เนื่องจากบางพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ไม่สามารถเจาะได้ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าขอให้ ปภ.ใช้เครื่องสูบน้ำระยะไกล สูบน้ำจากสระน้ำมาลงอ่าง และยอมรับว่าปัญหาสวนทุเรียนขาดน้ำ ทำให้เกษตรกรโซนบนและโซนล่างของหมู่บ้านมีความขัดแย้ง ต้องแย่งชิงน้ำ แต่ล่าสุดมีข้อตกลงร่วมกันว่าจะสูบน้ำในอ่าง หลังจากน้ำหมด หากฝนไม่ตกก็ต้องขอให้ทางราชการเข้ามาช่วยเหลือเร่งด่วน

น.ส.ชุติการ นาคอุดม เลขานุการนายก อบต.ร่อนทอง กล่าวว่า เพื่อลดผลกระทบ อบต.ได้นำน้ำเพื่อการอุปโภคแจกจ่ายให้ประชาชน ส่วนน้ำเพื่อการเกษตร ทราบว่ากรมชลประทาน มีแผนจะขุดลอกอ่างคลองลอย ยอมรับว่าปีนี้ภัยแล้งรุนแรงมาก ที่ผ่านมาหลายปีมีเกษตรกรบางรายต้องลงทุนซื้อน้ำจากรถบรรทุก เพื่อรดน้ำทุเรียนโดยใช้ทุนรายละมากกว่า 7 แสนบาท ////
พิสิษฐ์รื่นเกษมข่าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์โทร 098-568-1744