ตะกวดเข้าบ้าน แม่เฒ่า อายุ 81 ปี ลั่นถ้าถูกรางวัลที่ 1 จะให้กับข้าวกินทุกวัน ย่านประชาอุทิศ
วันที่ 29 เมษายน 2566 เวลา 09.20 น.
อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ( อปพร. ) เขตราษฎร์บูรณะ รับแจ้งจากศูนย์กู้ชีพบูรณะ ( โรงพยาบาลราษฎร์บูรณะ ) รับแจ้งมีเหตุสัตว์เลื้อยคลานเข้าบ้าน ( ตัวเงินตัวทอง ) จึงรีบรุดจัดกำลังพร้อมจัดอุปกรณ์เร่งรัดตรวจสอบที่เกิดเหตุทันที
เมื่ออาสาสมัครไปถึงที่เกิดเหตุพบเหตุเกิดภายในบ้านเลขที่ 19 ซอย ประชาอุทิศ 19 ถนน ประชาอุทิศ แขวง ทุ่งครุ เขต ราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร เป็นลักษณะ บ้านไม้ 2 ชั้น มีรั้วรอบขอบชิด จากการตรวจสอบพบเหตุเกิดบริเวณชั้นล่างสุดของตัวบ้าน พบตัวเงินตัวทองขนาดใหญ่มีความยาวประมาณ 2 เมตร ถึง 2 เมตรครึ่ง น้ำหนักประมาณร่วม 10 กิโลกรัม นอนขดตัวอยู่บริเวณใต้โต๊ะซึ่งดัดแปลงทำเป็นชั้นวางตู้เย็นและตู้เก็บอุปกรณ์เครื่องมือซ่อมบำรุง
อาสาสมัครจึงรีบจัดเตรียมอุปกรณ์ พร้อมลงมือทำการเข้าจับกุมใช้เวลาเพียง 5 นาที จึงดำเนินการเป็นผลสำเร็จ แล้วนำใส่กระสอบพร้อมไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติที่ห่างไกลบ้านเรือนประชาชนทันที
จากการสอบถาม
ยาย ยุพิน คงสร้อยศิริ อายุ 81 ปี เจ้าของบ้านบอกว่า อยู่ดีดีก็เดินเข้ามา เข้ามาทางข้างหลังบ้านเพราะเป็นร่องน้ำ พอเข้ามาได้แล้วตนเห็นก็บอกว่า เข้ามาให้โชคให้ลาภนะ เข้ามาก็มุดเข้าไปนอนใต้โต๊ะเลย เมื่อก่อนก็เข้ามาแต่ตัวยังเล็ก แต่ครั้งนี้มาตัวใหญ่ ครั้งก่อน ตนก็ถูกนะ ครั้งนี้ตนก็บอกอีก บอกว่าถ้าถูกรางวัลใหญ่จะให้อาหารกินทุกวันเลย บ้านเลขที่ตน 19 เลขเก่า 263 ก็ขอให้ตนมีโชคมีลาภอีกนะ
เบื้องต้นจากเหตุการณ์ดังกล่าวอาสาสมัครสามารถดำเนินการจัดการได้เป็นเวลาอันรวดเร็วและไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว ส่วนตะกวดที่ดำเนินการจับในครั้งนี้มีนิสัยค่อนข้างดุร้ายและไม่เป็นมิตรกับมนุษย์ อาจจะเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่ค่อนข้างร้อนจัดทำให้สัตว์เลื้อยคลานประเภทดังกล่าวเกิดความเครียดและอาจจะตกใจที่มีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครมาจับ แล้วจากที่บ้านประชาชนดังกล่าวได้มีตัวเงินตัวทองเข้าบ้านในครั้งนี้เกิดจากสาเหตุที่บ้านเรือนดังกล่าวด้านหลังบ้านจะติดกับคลองระบายน้ำซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของตัวเงินตัวทองอยู่แล้ว จึงอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เข้าบ้านเรือนประชาชนเพื่อมาหาอาหารกินก็เป็นได้ อย่างไรแล้วถ้าสัตว์เลื้อยคลานประเภทดังกล่าว หรือจะเป็นงูทุกประเภท ทั้งมีพิษและไม่มีพิษก็ตามถ้าพบเจอก็ขอให้แจ้งทางกู้ภัยในพื้นที่ใกล้เคียงได้เลย อย่าไปจับเองเพราะจะทำให้ได้รับอันตรายจากสัตว์เลื้อยคลานเหล่านี้ได้ถ้าจับอย่างไม่ถูกวิธี
โชติกา ม่วงใจรักษ์ ผู้สื่อข่าว กทม.