ข่าวทั่วไป

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ทรงพระกรุณาประทานผ้าพระกฐิน ถวายแด่พระสงฆ์วัดพระธาตุจอมแจ้ง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ทรงพระกรุณาประทานผ้าพระกฐิน ถวายแด่พระสงฆ์วัดพระธาตุจอมแจ้ง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม 2563 เวลา 13.00 น. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ทรงพระกรุณาประทานผ้าพระกฐินให้ นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีเพื่อน้อมนำผ้าพระกฐินถวายแต่พระสงฆ์ที่จำพรรษาถ้วนไตรมาส วัดพระธาตุจอมแจ้ง หมู่ที่ 12 ตำบลม่วงคำ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย โดยมี พระครูพิพิธวัฒโกวิท เจ้าคณะอำเภอพาน เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วยพระสงฆ์จำนวน 10 รูป ประกอบพิธีทางศาสนา ถวายจตุปัจจัยถวายเป็นพระราชกุศล

หลังจากนั้น พระอาจารย์ จิรปภาโส เจ้าอาวาสวัดพระธาตุจอมแจ้ง เป็นผู้พิจารณาผ้าพระกฐินพระราชทาน มีหัวหน้าส่วนราชการ พุทธศาสนิกชน คณะศรัทธา และประชาชนในพื้นที่อำเภอพาน และอำเภอไกล้เคียง ร่วมพิธีจำนวนมาก โดยมียอดเงินบริจาคร่วมทำบุญในครั้งนี้ จำนวนทั้งสิ้น 1,118,737.97 บาท (หนึ่งล้านหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นแปดพันเจ็ดร้อยสามสิบเจ็ดบาทเก้าสิบเจ็ดสตางค์) เพื่อถวายบำรุงและบูรณะศาสนสถาน ของวัดพระธาตุจอมแจ้งต่อไป

สำหรับ วัดพระธาตุจอมแจ้ง มีชื่อเต็มตามแผ่นศิลาจารึกว่า “พระมหาชินธาตุเจ้าจอมแจ้ง สระหนองปลิง” ภายในองค์พระธาตุ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ภายหลังชาวบ้านจึงเรียกดอยแห่งนี้ว่า ดอยจอมแจ้ง ตามชื่อของพระธาตุ แต่เนื่องจากองค์พระธาตุประดิษฐานอยู่บนยอดดอยสูง และมีอายุยาวนาน จึงชำรุดทรุดโทรมเกินกว่าที่จะบูรณะได้ แผ่นศิลาจารึกได้มีบันทึกเป็นอักษรธรรมภาษาล้านนาไว้ แปลเป็นไทยมีใจความว่า ในวันเสาร์ที่ 21 กันยายน พุทธศักราช 2472 ตรงกับวันเสาร์ แรม 3 ค่ำ เดือน 12 เหนือ ปีมะเส็ง จุลศักราช 1291 เวลา 15 นาฬิกา ครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง เมืองลี้ จังหวัดลำพูน มาเป็นประธานในการบูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุดวงนี้ โดยมี พระกั๋ญจะนะผาบภิกขุ เป็นผู้ดูแลการก่อสร้าง พร้อมกับพระภิกษุ – สามเณรมากมายมาร่วมกันบูรณะ และฝ่ายฆารวาส ยังมีหลวงพงษ์สุรสวัสดิ์ เจ้าหลวงเมืองพาน แม่เจ้าคำแปง และชายา บุตรธิดาทุกองค์ ทั้งราษฎรจากทั่วสารทิศมาร่วมกันบูรณะองค์พระธาตุ โดยการช่วยกันหาบก้อนอิฐ หิน ทราย วัสดุในการก่อสร้างขึ้นไปยังยอดดอย เพื่อก่อเจดีย์ครอบองค์เก่าซึ่งเหลือเพียงซากปรักหักพังเท่านั้น

การก่อสร้างในสมัยนั้น เป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด ด้วยแรงศรัทธาของประชาชนที่มีต่อครูบาเจ้าศรีวิชัย การก่อสร้างจึงแล้วเสร็จในเวลาต่อมา ซึ่งในขณะนั้นครูบาเจ้าศรีวิชัย อายุได้ 51 ปี

เครดิตข่าวโดย / สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

ทีมข่าวทั่วไทยนิวส์ รายงาน โทร.0816888600