ข่าวประชาสัมพันธ์ข่าวพาดหัวแจ้งเตือนภัย

อุตุฯ เตือน 8-10 มิ.ย. ระวังฝนตกหนักน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

อุตุฯ เตือน 8-10 มิ.ย. ระวังฝนตกหนักน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

โดยจากผลพยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า (8 มิ.ย. 66) กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประเตือนไว้ว่า

ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านประเทศเมียนมา ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ย ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมชายฝั่งประเทศเมียนมา ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มในระยะนี้ไว้ด้วย
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร และอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 11 มิ.ย. 66

พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า : ในช่วงวันที่ 8 – 10 มิ.ย. 66 ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านประเทศเมียนมา ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณเกาะไหหลำ ประเทศจีน และอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณชายฝั่งประเทศเมียนมา ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรงโดยมีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างและบริเวณอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร
หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 11 – 14 มิ.ย. 66 ร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทยจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านบริเวณประเทศเมียนมาและประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะเริ่มมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง

สำหรับคลื่นลมกำลังค่อนข้างแรงบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังอ่อนลง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างและบริเวณอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ตลอดช่วง

ข้อควรระวัง: ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักตลอดช่วง และในช่วงวันที่ 8 – 10 มิ.ย. 66 ขอให้ประชาชนในภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ระวังอันตรายจากฝนตกหนักมากและฝนที่ตกสะสมที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่ม โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 11 มิ.ย.

สถานการณ์แผ่นดินไหวในช่วง (7 – 8 มิ.ย. 66): ตรวจพบเหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 4.9, 4.4 มีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา ขนาด 1.7 มีศูนย์กลางอยู่ที่ ต.ผางาม อ.เวียงชัย จ.เชียงราย ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยแต่อย่างใด

เอกกพล ทั่วไทยนิวส์ รายงาน