ข่าวทั่วไป

กรมศุลกากรทำลายของกลาง รวมมูลค่ากว่า 57 ล้านบาท

กรมศุลกากรทำลายของกลาง รวมมูลค่ากว่า 57 ล้านบาท

วันนี้ (19 มิถุนายน 2566) เวลา 10.00 น. นายพงศ์เทพ บัวทรัพย์ รองอธิบดีกรมศุลกากร รักษาการในตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร เป็นประธานในพิธีนำของกลาง
ที่คดีถึงที่สุดไปทำลาย พร้อมด้วยนายถวัลย์ รอดจิตต์ ผู้อำนวยการกองสืบสวนและปราบปราม พ.ต.อ.วงศ์ปกรณ์ เปรมกุลนันท์ รอง ผบก. กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) พ.ต.ต. สตพงษ์ เชื้อมหาวรรณ ผู้อำนวยการส่วนคดีทรัพย์สินทางปัญญา 3 กรมสวบสวนคดีพิเศษ
นางสาวเขมะศิริ นิชชากร ผู้อำนวยการกองป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา กรมทรัพย์สินทางปัญญา และผู้แทนจากกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) ร่วมพิธีดังกล่าว โดยของกลางที่นำไปทำลาย รวมมูลค่ากว่า 57 ล้านบาท ณ ห้องโถง อาคาร 1 กรมศุลกากร

นายพงศ์เทพ บัวทรัพย์ รองอธิบดีกรมศุลกากร รักษาการในตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร เปิดเผยว่า กรมศุลกากร ร่วมกับ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) และกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) ได้จับกุมและตรวจยึดของกลาง อาทิ เครื่องสำอาง บารากู่ บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ สินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้า และอื่น ๆ จำนวนทั้งสิ้น 1,295,875 ชิ้น คิดเป็นมูลค่าทั้งหมด 57,349,633 บาท โดยเป็นการกระทำความผิดฐาน “มีไว้ในครอบครองซึ่งบุหรี่ไฟฟ้า ที่เป็นสิ่งของต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ จำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งสิ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร หรือเคลื่อนย้ายของออกไปจากยานพาหนะ คลังสินค้าทัณฑ์บน โรงพักสินค้า ที่มั่นคง ท่าเรือรับอนุญาต หรือเขตปลอดอากร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร” อีกทั้ง สินค้าบางรายการมีการลอกเลียนแบบและมีการลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักร ถือเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยประเทศไทยได้มีข้อตกลงที่จะร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้เกิดการยอมรับในระดับสากล รวมถึงสร้างมาตรฐานการปกป้องสังคม เพื่อประโยชน์ทางการค้าของผู้ประกอบการที่สุจริตและประชาชนทั่วไป

นายพงศ์เทพฯ กล่าวต่ออีกว่า กรมศุลกากรจะนำของกลางที่คดีได้ถึงที่สุดและตกเป็นของแผ่นดินตามกฎหมาย ไปทำลายโดยวิธีการเผาทำลาย ณ โรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของบริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ในวันที่ 19 – 21 มิถุนายน 2566 และทุบทำลายโดยใช้รถบด ณ บริษัท โกลเด้นดีพ (ประเทศไทย) จำกัด ในวันที่ 22 มิถุนายน 2566

โชติกา ม่วงใจรักษ์ ผู้สื่อข่าว กทม.