รองเลขาธิการ ปปส. ลงพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดตรวจเยี่ยมและติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โครงการนาคาพิทักษ์ รักษ์ประชารูปแบบ หัวโทน Model
วันที่ 22 มิถุนายน 2566 เวลา 10.00 น. ณ สถานีตำรวจภูธรหัวโทน อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด นายธนากร คัยนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจแก่ เจ้าหน้าที่ และผู้เข้าร่วมโครงการนาคาพิทักษ์ รักษ์ประชาในรูปแบบ หัวโทน Model พร้อมทั้งติดตามการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด รับฟังการนำเสนอผลการบูรณาการความร่วมมือในการดูแล ป้องกัน เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหาผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติด โดยมี นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด พันตำรวจเอกสุริเดช วรรณสุทธิ์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดร้อยเอ็ด นายไพโรจน์ จิตจักร์ ปลัดจังหวัดร้อยเอ็ด นายอำเภอ ภาคีเครือข่ายฝ่ายตำรวจ ปกครอง สาธารณสุข ตลอดจนผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ และร่วมประชุมติดตาม พร้อมกับนำเสนอผลการดำเนินงาน
ทั้งนี้ โครงการนาคาพิทักษ์ รักษ์ประชาในรูปแบบ หัวโทน Model เป็นการบูรณาการร่วมกันในการดูแล ป้องกัน เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหาผู้ป่วยจิตเวช โดยได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ชื่อว่า Smart Tele Mind 101 ซึ่งมีทั้งฝ่ายตำรวจ ฝ่ายปกครอง และสาธารณสุข เป็นแกนหลักในการเสริมศักยภาพและพัฒนา เพื่อรวบรวมส่งต่อข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ให้เกิดการประสานงานในการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเป็นระบบ ภายใต้การบูรณาการร่วมกันของภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่ จนเกิดเป็น “หัวโทนโมเดล” เป็นทีมผู้พิทักษ์ ของสถานีตำรวจภูธรหัวโทน อำเภอสุวรรณภูมิ ที่มีความเข้มแข็งในการร่วมกันดูแลและแก้ไขปัญหาผู้ป่วยจิตเวชจนประสบผลสำเร็จ ด้วยการประสานความร่วมมือของทุกภาคส่วน ที่ช่วยกันการติดตาม ดูแล ผู้ป่วยจิตเวช ตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน สร้างความไว้ใจ อบอุ่นใจ และการให้ความร่วมมือในการแจ้งข้อมูลของผู้ป่วยให้กับเจ้าหน้าที่ทราบทุกวัน นำไปสู่การดูแลรักษาที่ต่อเนื่อง ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ เป็นการคืนคนดีสู่สังคม
นายธนากร คัยนันท์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ในวันนี้เนื่องด้วยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในเรื่องการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นสังคมที่สงบสุข ตามทิศทางการพัฒนาของจังหวัด ที่มุ่งเน้นการพัฒนาโดยใช้ชุมชนเข็มแข็ง สอดรับกับการดำเนินงานโครงการชุมชนยั่งยืน เพื่อแก้ปัญหายาเสพติดแบบครบวงจร ซึ่งเป็นโครงการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในชุมชน โดยเสริมสร้างให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง เข้าใจ และตระหนักถึงปัญหาพิษภัยของยาเสพติด นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังประกอบด้วยกระบวนการลงพื้นที่เพื่อค้นหาผู้ติดยาเสพติดทุกครัวเรือนในชุมชน การคัดกรอง การฟื้นฟูและลดอันตรายจากยาเสพติด เน้นการบำบัดโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม อีกทั้งจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันทางใจและติดตามผลเพื่อส่งต่อความยั่งยืน ซึ่งในปัจจุบันมีหลายชุมชนที่ดำเนินการบำบัดฟื้นฟูการใช้ยาเสพติดโดยใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลางและสามารถดูแลผู้ใช้ยาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ผู้ผ่านการบำบัดมีพลังในการดำเนินชีวิตและอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างสงบสุข จึงได้นำชุมชนเหล่านี้มาเป็นชุมชนต้นแบบ เพื่อให้ชุมชนทั่วประเทศได้นำรูปแบบไปเป็นแนวทางปฎิบัติในการดูแลผู้ใช้ยาเสพติดในชุมชนของตนอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ต่อไป