ป.ป.ช.ชงฟ้องยึดทรัพย์ ส.อบจ. ดำรงตำแหน่ง 7 ปี รวยผิดปกติ 4.6 ล้าน
ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเชียงราย แถลงชี้มูลความผิด “จิรายุ เผ่ากา”สมาชิกสภา อบจ.เชียงราย ร่ำรวยผิดปกติ ให้ส่งรายงานไปยังอัยการสูงสุดเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลทุจริตฯ ขอให้ศาลมีคำสั่งยึดทรัพย์สิน 43 รายการ เป็นจำนวนเงิน 4.6 ล้านบาท
5 กันยายน 2566 สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 5 และสำนักงานป.ป.ช.ประจำจังหวัดพื้นที่ภาค 5 ร่วมแถลงข่าวการดำเนินงานประจำเดือนกันยายน 2566 โดย นายเนติพล ชุมยวง ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเชียงราย เปิดเผยสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีกล่าวหานายจิรายุ เผ่ากา สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ว่า มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติไม่สัมพันธ์กับรายได้ หรือร่ำรวยผิดปกติ และปัจจุบันนายจิรายุ เผ่ากา ยังคงดำรงตำแหน่งสมาชิสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย
จากการไต่สวนข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายจิรายุ เข้ารับตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2555 พ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 นายจิรายุ และคู่สมรส มีรายได้ตามแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตั้งแต่ปี 2555-2562 (7 ปี) เป็นจำนวนเงินประมาณ 1,584,309 บาท และไม่ปรากฏว่า นายจิรายุ ประกอบอาชีพเสริมอื่นใด มีรายได้เพียงค่าตอบแทนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงรายเท่านั้น
ส่วนคู่สมรสก็ไม่ได้ประกอบอาชีพ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติเกินกว่าฐานะและรายได้ เป็นเงินฝากในบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเชียงราย ประเภทออมทรัพย์ ชื่อบัญชีนายจิรายุ เผ่ากา เปิดบัญชีเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2551 ทางการไต่สวนพบว่า มีรายการเคลื่อนไหวเป็นจำนวนมากเกินกว่าฐานะและรายได้ ซึ่งเป็นลักษณะฝากเงินเข้าบัญชีนอกเหนือจากเงินรายได้ที่ได้รับในตำเหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ช่วงระหว่างที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2555 จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2561 รวม 63 รายการ เป็นเงินจำนวน 6,466,870 บาท
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 87/2566 เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 พิจารณาแล้วเห็นว่า ทรัพย์สินที่เป็นเงินฝากและเงินที่โอนเข้ามาในบัญชีธนาคารของผู้ถูกกล่าวหา ตามที่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหา จำนวน 63 รายการ เป็นจำนวนเงิน 6,466,870 บาท นั้น มีทรัพย์สินที่มีแหล่งที่มา ซึ่งมิใช่เป็นการมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือร่ำรวยผิดปกติ จำนวน 20 รายการ รวมเป็นเงินจำนวน 1,793,140 บาท กรณีดังกล่าวเห็นว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล เห็นควรให้ข้อกล่าวหาเป็นอันตกไป
แต่กรณีแหล่งที่มาของทรัพย์สินที่เป็นเงินนำฝากและเงินโอนเข้าบัญชีธนาคารของผู้ถูกกล่าวหา อีกจำนวน 43 รายการ รวมเป็นเงินจำนวน 4,673,730 บาท เป็นกรณีมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ อันมีลักษณะเป็นการร่ำรวยผิดปกติ คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกกล่าวหาในกรณีนี้ ฟังไม่ขึ้น ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่มีเขตอำนาจ พิจารณาพิพากษาคดี
ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 43 รายการ รวมเป็นเงินจำนวน 4,673,730 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน ตามมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
ทั้งนี้ หากไม่สามารถบังคับเอาแก่ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติดังกล่าวได้ทั้งหมดหรือบางส่วน ก็ขอให้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาด้วย ตามมาตรา 125 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 และแจ้งคำวินิจฉัยพร้อมด้วยข้อเท็จจริงโดยสรุป ไปยังผู้มีอำนาจสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง โดยให้ถือว่ากระทำการทุจริตต่อหน้าทีตามมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561