ข่าวทั่วไป

จังหวัดเชียงรายเริ่มต้นการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล”

จังหวัดเชียงรายเริ่มต้นการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล”

นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมเริ่มต้นการดำเนินงานของศูนย์บริหารงานการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดลระดับจังหวัด เมื่อบ่ายวันอังคารที่ 27 ตุลาคม 2563 ที่ห้องธรรมลังกา ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ถนนแม่ฟ้าหลวง ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย โดยมี คณะกรรมการและที่ปรึกษาและวิทยากรจิตอาสาเข้าร่วมหารือด้วยความพร้อมเพรียง พร้อมรับทราบรายงานความก้าวหน้าจากการดำเนินงานห้วงแรกของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงราย สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงราย และเรือนจำกลางเชียงราย

การประชุมในครั้งนี้ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงรายได้จัดขึ้น เพื่อหารือกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดล ให้เห็นผลงาน บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและบรรลุเป้าหมาย อันสืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแผนงานและโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศรอบที่ 1 ครั้งที่ 1 โดยให้กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการพัฒนาชุมชนดำเนินการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบของการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์ฟสู่โคก หนอง นา โมเดล มีการดำเนินการในพื้นที่ 73 จังหวัด 575 อำเภอ 3,246 ตำบล 25,178 หมู่บ้าน

“โครงการ โคก หนอง นา โมเดล” เป็นการนำหลักทฤษฎีใหม่มาประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ซึ่งมีความมุ่งหมายส่งเสริมการเรียนรู้การน้อมนำปรัชญาของระบบเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบโคก หนอง นา โมเดล เพื่อพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ต้นแบบโคก หนอง นาโมเดล ตามหลักปรัชญาของระบบเศรษฐกิจพอเพียงระดับตำบลและระดับครัวเรือน และเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนผ่านการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร แรงงาน และบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาใหม่ ตลอดทั้ง กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่น และชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้อย่างประณีตเรียบง่าย และสามารถทำได้ด้วยตนเอง ซึ่งจังหวัดเชียงรายมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติงาน ที่อำเภอเมืองเชียงรายมีทุกตำบล โดยได้รับทราบรายงานข้อมูลและผลงานความก้าวหน้าจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงราย สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงราย และเรือนจำกลางเชียงราย ที่ได้ผลดีตามลำดับและมีแผนงานที่จะขยายจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการให้ครอบคลุมเป้าหมายต่อไป

ทั้งนี้ จังหวัดเชียงรายยังได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนในรูปแบบ 1 ตำบล 1 ศูนย์เรียนรู้ ส่วนการบูรณาการขับเคลื่อนโครงการโดยวิทยากรจิตอาสา 904 และจิตอาสาพระราชทานจะสนับสนุนการปฏิบัติงานในจุดที่ทำงานและศูนย์เรียนรู้ โดยเฉพาะการสาธิตแนะนำและส่งเสริม ซึ่งจังหวัดเชียงรายจะขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างเต็มที่ และมุ่งให้ประชาชนได้รับประโยชน์และมีบทบาทส่วนร่วมครบในทุกขั้นตอน อีกทั้ง ขอให้ทุกภาคส่วนร่วมมือจัดการไฟป่าและฝุ่นควัน รวมทั้งหมอกควันจากประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยการใช้รูปแบบโคก หนอง นา โมเดล มารณรงค์อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งการสร้างกระแสชี้นำสังคมจะนำมาใช้ในการรณรงค์ในห้วงของสถานการณ์ของจังหวัดเชียงรายได้ด้วย

แนวทางคัดย่อโดยสรุปคือ โคกหนองนา โมเดล เป็นการจัดการพื้นที่ซึ่งเหมาะกับพื้นที่การเกษตร ซึ่งมักอยู่ในพื้นที่กลางน้ำ ได้ทำการผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้าน แปลงสู่คำภาษาไทยที่ชาวบ้านเข้าใจง่ายๆ คือ “โคก หนอง นา” โดยยึดหลักว่า ดินที่ขุดทำหนองน้ำนั้นให้นำมาทำโคก บนโคกปลูก “ป่า 3อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ตามแนวทางพระราชดำริ มีการจัดการรูปที่ดิน ขุดดินมาทำเป็นเนินโคก เพื่อจัดทำแหล่งน้ำเป็นแบบหลุมขนมครก และทำคลองไส้ไก่ เชื่อมถึงกันทำให้มีน้ำใข้ได้ตลอดทั้งปี และปลูกข้าวในบริเวณที่จัดไว้เป็นนา ดังนั้น โคก-หนอง-นา โมเดล คือการจัดการพื้นที่ซึ่งเหมาะกับพื้นที่การเกษตร ซึ่งเป็นผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่ เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่อยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่นั้น ๆ โคก-หนอง-นา โมเดล จึงเป็นการให้ธรรมชาติจัดการตัวเอง โดยมีมนุษย์เป็นส่วนส่งเสริมให้สำเร็จได้รวดเร็วขึ้นอย่างเป็นระบบ

โคก-หนอง-นา โมเดล จึงเป็นแนวทางทำเกษตรอินทรีย์และการสร้างชีวิตที่ยั่งยืน โดยมีองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่

โคก: พื้นที่สูง ดินที่ขุดทำหนองน้ำนั้นให้นำมาทำโคก บนโคกปลูก “ป่า 3อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ตามแนวทางพระราชดำริ มีการปลูกพืช ผัก สวนครัว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ทำให้พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น เป็นเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน ก่อนเข้าสู่ขั้นก้าวหน้า คือ ทำบุญ ทำทาน เก็บรักษา ค้าขาย และเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ที่ดินยังปลูกที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศอย่างเหมาะสมและลงตัว

หนอง คือ หนองน้ำ หรือแหล่งน้ำ มีการขุดหนองเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้งหรือจำเป็น และเป็นที่รับน้ำยามน้ำท่วมเป็นแบบหลุมขนมครก มีการขุด “คลองไส้ไก่” หรือคลองระบายน้ำรอบพื้นที่ตามภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยขุดให้คดเคี้ยวไปตามพื้นที่เพื่อให้น้ำกระจายเต็มพื้นที่เพิ่มความชุ่มชื้น ลดพลังงานในการรดน้ำต้นไม้ มีการทำฝายทดน้ำเพื่อเก็บน้ำเข้าไว้ในพื้นที่ให้มากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อพื้นที่โดยรอบไม่มีการกักเก็บน้ำ น้ำจะหลากลงมายังหนองน้ำ และคลองไส้ไก่ ให้ทำฝายทดน้ำเก็บไว้ใช้ยามหน้าแล้ง และมีการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ ทั้งการขุดลอก หนอง คู คลอง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง และเพิ่มการระบายน้ำยามน้ำหลาก

ส่วนนา คือพื้นที่นานั้นให้ปลูกข้าวอินทรีย์พื้นบ้าน โดยเริ่มจากการฟื้นฟูดิน ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ยั่งยืน คืนชีวิตเล็ก ๆ หรือจุลินทรีย์กลับคืนแผ่นดิน ใช้การควบคุมปริมาณน้ำในนาเพื่อคุมหญ้า ทำให้ปลอดสารเคมีได้ ปลอดภัยทั้งคนปลูก คนกิน ให้ยกคันนาให้มีความสูงและกว้าง เพื่อใช้เป็นที่รับน้ำยามน้ำท่วม ปลูกพืชอาหารตามคันนาได้อีกด้วย

เครดิต /สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

ผู้สื่อข่าวภูมิภาคไทยนิวส์ จ.เชียงราย รายงาน