✨รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางมาตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี(16 ตุลาคม 2566) เวลา 16.00 น. ณ ห้องประชุมบุษราคัม องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ เดินทางมาตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยมี ร้อยโท ทศพล ไชยโกมินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ให้การต้อนรับและรายงานข้อมูลในพื้นที่ฯ พร้อมด้วย นายอัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กาญจนบุรี เขต 1 นายชูศักดิ์แม้นทิม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กาญจนบุรี เขต 2 นายพนม โพธิ์แก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กาญจนบุรี เขต 5 นายวุฒิพงษ์ สุภัควนิช หัวหน้าสำนักงานจังหวัดกาญจนบุรี นางสาวเอื้องพร นพคุณ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดกาญจนบุรี หัวหน้าส่วนราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จังหวัดกาญจนบุรี ตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร,โคกระบือ และไร่อ้อย เข้าร่วมการต้อนรับและรับฟังการบรรยายฯ
จังหวัดกาญจนบุรี มีพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด 12,179,968 ไร่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรม 3,030,599 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าว 454,362 ไร่ พืชไร่ 1,424,043 ไร่ พืชสวน 372,740 ไร่ และพืชอื่น ๆ 19,863 ไร่ โดยมีพื้นที่ชลประทานโครงการส่งน้ำ และบำรุงรักษาในจังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 417,311 ไร่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดกาญจนบุรี มีมูลค่า 106,056 ล้านบาท อยู่ในลำดับที่ 27 ของประเทศ และลำดับที่ 2 ของภาคตะวันตก โดยมีสัดส่วนมูลค่า นอกภาคการเกษตรร้อยละ 76.76 และภาคการเกษตรร้อยละ 23.24 โดยมีรายได้เฉลี่ยปีละ 127,365 บาพ ต่อคน จำนวนประชากร 833,000 คน 343,345 ครัวเรือน เป็นครัวเรือนเกษตรกร 79,150 ครัวเรือน และเป็นแรงงานภาคเกษตรกร 193,126 คน พืชเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ข้าวนาปี ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และสับปะรด สัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ไก่เนื้อ โคเนื้อ สุกร โคนม และแพะ สัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ปลานิล กุ้งขาวและกุ้งก้ามกราม สินค้าเกษตรที่ได้รับรองสิ่งบ่งขี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ด้านพืชของจังหวัดกาญจนบุรีมี 2 ชนิด ได้แก่ ทุเรียนทองผาภูมิ และเงาะทองผาภูมิ
จากข้อมูลสถานการณ์ด้านการเกษตรที่ผ่านมา พบว่าเกษตรกรประสบปัญหาด้านการผลิต เช่น ปัจจัยด้านการเกษตรมีราคาแพง ปัญหาด้านภัยธรรมชาติ พื้นที่ชลประทานไม่ครอบคลุมพื้นที่การเกษตร ปัญหาด้านการจัดการศัตรูพืช และขาดความรู้ด้านการเกษตรที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ
จังหวัดกาญจนบุรีได้เตรียมความพร้อม รับสถานการณ์ภัยแล้ง ที่เกิดจากสภาวะเอลนีโญ และสถานการณ์ช่วงฤดูฝนโดยมีศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดกาญจนบุรี ช่วยติดตามสถานการณ์ และจัดทำฝนหลวงในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีนอกจากนี้ปัญหาการลักลอบนำสินค้าปศุสัตว์ (วัว/หมู) และสินค้าปศุสัตว์ราคาตกต่ำที่จะต้องมีการติดตามและเฝ้าระวัง