ข่าวพาดหัวตรวจสอบ

นอภ.สิงหนคร เรียกประชุมพร้อมนำทีมลงพื้นี่ตรวจสอบเหตุน้ำเสียคลองสทิงหม้อ

พี่เสือ นักข่าว
นอภ.สิงหนคร เรียกประชุมพร้อมนำทีมลงพื้นี่ตรวจสอบเหตุน้ำเสียคลองสทิงหม้อ

นายอำเภอสิงหนคร และหน่วยงานเกี่ยวข้อง ตรวจสอบข้อเท็จจริงหตุน้ำเสียในคลองสทิงหม้อ อ.สิงหนคร คณะทำงาน “นายกชาย” เสนอแผนแก้ปัญหาร่วมกับท้องถิ่น เปลี่ยนประตูระบายน้ำรำแดงแบบปิดให้เป็นฝายน้ำล้น-ขุดลอกคลอง-เข้มงวดโรงงาน แก้น้ำเสียคลองสทิงหม้ออย่างยั่งยืน

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 ณ ที่ทำการ อบต.ทำนบ อ.สิงหนคร จ.สงขลา มีนายกริชชัย ภู่ฉุน นายอำเภอสิงหนคร เป็นประธานการประชุมและลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีชาวบ้านร้องเรียนเหตุน้ำเสียในคลองสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา พร้อมด้วยนายอดุลย์ สงดวง เชี่ยวชาญประจำตัวสส.เขต 6สงขลา และกรรมการสิ่งแวดล้อมจังหวัดสงขลา นายเพทาย ศรีไตรรัตน์ นายหมุดตะเหล็บ โหดหีม ผู้ช่วยดำเนินงาน สส.เขต 5 สงขลา ผู้นำท้องถิ่น-ท้องที่ นายกอง จันทร์สว่าง นายกเทศมนตรีเมืองสิงหคร ,นายสุชาติ พรหมสวัสดิ์ นายกอบต.ทำนบ ,ดร.สมมาตร แก้วมณี นายกอบต.รำแดง ,นายประยุทธ์ บานประดิษฐ์ นายกอบต.วัดขนุน นายจตุพร เขียวเจริญ ส.อบจ.สิงหนคร เขต 1 ผู้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ และส่วนราชการ อาทิ สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 16 (สงขลา) สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสงขลา ประมงอำเภอสิงหนคร สาธารณสุขอำเภอสิงหนคร ปกครองท้องถิ่นอำเภอสิงหนคร

สืบเนื่องช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน มีฝนตกหนักในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระและมีการเปิดประตูระบายน้ำรำแดงคลองสทิงหม้อ เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลสาบสงขลาให้เร็วขึ้น ภายหลังการปล่อยน้ำชาวบ้านได้ร้องเรียนว่าน้ำมีสีดำ มีกลิ่นเหม็น และมีปลาตายในคลองด้วย โดยอำเภอสิงหนคร อบต.ทำนบ อบต.รำแดง และหน่วยงานเกี่ยวข้องได้ร่วมกันตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นแล้วและได้มีการเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมลงพื้นที่ร่วมกันอีกครั้งในวันนี้ จากการสังเกตลักษณะทางกายภาพทั่วไปในคลองสทิงหม้อในวันนี้ พบว่าน้ำมีสีดำ กลิ่นเหม็น ไม่พบปลาตาย และบางช่วงมีวัชพืชขึ้นปกคลุมหนาแน่นเต็มลำคลอง โดยทางสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 16 (สงขลา) ได้มีการเก็บตัวอย่างน้ำช่วงต่างๆ เพื่อไปตรวจสอบคุณภาพด้วย

เบื้องต้นในส่วนของอำเภอสิงหนคร ได้กำหนดมาตรการ/แนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูคุณภาพในคลองสทิงหม้อ ดังนี้ (1) นำน้ำจากคลองอาทิตย์ และคลองสายยู ซึ่งมีลักษณะทางกายภาพที่ใสกว่า มาผสมและเจือจางน้ำเสียในคลองสทิงหม้อ (2) เร่งกำจัดวัชพืชในลำคลอง (3) เพิ่มออกซิเจนในน้ำ ด้วยการติดตั้งเครื่องตีน้ำ และ (4) กำกับ ตรวจสอบ และแนะนำโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ ให้ควบคุมดูแลระบบบำบัดน้ำเสียมิให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะติดตามและเฝ้าระวังปัญหาดังกล่าวต่อไป

อย่างไรก็ตาม ทางคณะทำงานของนายกชาย นายเดชอิศม์ ขาวทอง สส.เขต 5 สงขลา และรักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จากการรับฟังข้อมูลจากชาวบ้านที่ผ่านมาโดยการลงพื้นที่ของสส.และคณะทำงาน ส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่าต้นเหตุน่าจะมาจากโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่ แต่เพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทางคณะทำงานได้พูดคุยหารือกับผู้นำท้องถิ่น-ท้องที่ และนำข้อมูลการเเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ย้อนหลังมาประกอบการหารือร่วมกันถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา ดังนี้

– ในระยะเร่งด่วน คือควรเปลี่ยนประตูระบายน้ำรำแดงคลองสทิงหม้อ ที่เป็นประตูแบบปิดทั้ง 2 บาน เมื่อมีการระบายน้ำออกน้ำที่ผ่านประตูเป็นตะกอนใต้น้ำที่มีทั้งโคลน ขยะสะสม รวมทั้งอาจมีสารเคมีเจือปนอยู่เมื่อไหลลงสู่ปลายคลองอาจทำให้เกิดน้ำเสียได้ จึงเห็นควรให้เปลี่ยนประตูระบายน้ำ 1 ฝั่งให้เป็นฝายน้ำล้นแทนเพื่อให้น้ำจากตอนบนสามารถไหลลงมารวมกับน้ำตอนล่างได้ตลอดเวลา ส่วนบานประตูอีกฝั่งยังคงไว้เหมือนเดิมเพื่อเปิดในเวลาที่มีฝนตกหนักจริงๆ และเพื่อให้การดูแลการระบายน้ำมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นทางท้องถิ่นพร้อมรับการถ่ายโอนการดูแลประตูระบายน้ำจากชลประทานด้วย และควรมีการขุดลอกวัชพืชในลำคลองสายต่างๆ ด้วย
– ในระยะยาว ต้องมีการขุดลอกตะกอนดินโคลนก้นคลองของคลองสทิงหม้อ และคลองสาขาทุกสาย ซึ่งมีอุปสรรคที่ต้องหาที่ทิ้งเศษดินโคลนที่คาดว่าจะมีปริมาณมาก ในประเด็นนี้ทางกรมชลประทาน ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และท้องถิ่นทุกระดับ ต้องมาร่วมประชุมหาทางออกร่วมกัน

และประเด็นสำคัญคือ การเข้มงวดตรวจสอบระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงานที่อยู่ในพื้นที่ตลอดแนวคลองและลำน้ำสาขา ซึ่งหากทุกโรงงานมีระบบบำบัดน้ำเสียที่ดีตามมาตรฐานกรมโรงงานอุตสาหกรรม ขอให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา เข้มงวดในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อร่วมกันสร้างเอกราชทางสิ่งแวดล้อม ส่งมอบน้ำดี ดินดี อากาศ เป็นมรดกให้ลูกหลานของเราอย่างยั่งยืนต่อไป