ข่าวทั่วไปข่าวพาดหัว

คลิปภาพเหตุการณ์ขณะชาวบ้านและเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาปะช้าง-แหลมขาม ช่วยชีวิตวาฬเบลน์วิลล์ เพศเมีย ตัวใหญ่กว่า 4 เมตร

03-12-66 พี่เสือ นักข่าวสงขลา
คลิปภาพเหตุการณ์ขณะชาวบ้านและเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาปะช้าง-แหลมขาม ช่วยชีวิตวาฬเบลน์วิลล์ เพศเมีย ตัวใหญ่กว่า 4 เมตร น้ำหนักกว่า 500 กิโลกรัม ถูกคลื่นซัดมาเกยตื้นริมหาดปากบาง-สะกอม อ.เทพา จ.สงขลา คาดอาจพลัดหลงฝูง หรือบาดเจ็บ จึงถูกคลื่นในหน้ามรสุมซัดมาเกยหาด เจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือปฐมพยาบาลแล้ว อาการทรงตัว


วันที่ 3 ธ.ค. 66 คลิปภาพเหตุการณ์ในขณะที่ชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาปะช้าง-แหลมขาม อ.เทพา จ.สงขลา ช่วยกันพยุงร่างของวาฬตัวหนึ่งที่ลอยมาเกยตื้นอยู่ที่บริเวณชายหาดปากบาง-สะกอม อ.เทพา
โดยวาฬตัวนี้ถูกคลื่นซัดเข้ามาเกยตื้นที่ชายหาดในช่วงเช้าของวันที่ 2 ธ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งทั้งชาวบ้านที่ไปพบ และเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาปะช้าง-แหลมขาม ซึ่งดูแลพื้นที่ในบริเวณดังกล่าวได้ช่วยกันนำร่างวาฬลงสู่น้ำอีกครั้งในเวลาไม่นานหลังจากนั้น และพยามประคองวาฬไปยังบริเวณที่มีน้ำลึกพอสมควร เพื่อให้สามารถว่ายออกสู่ทะเลได้


แต่ปรากฏว่า วาฬตัวนี้ว่ายออกไปได้ราว 500 เมตร ก็วนกลับเข้าหาฝั่งอีกครั้ง ซึ่งคาดว่า น่าจะอ่อนแรง และอาจจะบาดเจ็บ และด้วยคลื่นลมในทะเลที่ยังค่อนข้างแรงเป็นระยะ เนื่องจากยังอยู่ในช่วงมรสุมของภาคใต้ตอนล่าง จึงถูกคลื่นซัดกลับเข้าหาฝั่งอีกครั้ง
และต่อมามีการประสานเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เข้ามาช่วยดูแลวาฬตัวนี้แล้ว


โดยพบว่า เป็นวาฬเบลน์วิลล์ (Blainville’s beaked Whale) ชื่อวิทยาศาสตร์ Mesoplodon densirodtris เพศเมีย ความยาวลำตัว 4 เมตร ขนาดรอบลำตัว 2 เมตร น้ำหนักประมาณ 500 กิโลกรัม
ซึ่งทางสัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง ได้ทำเปลผ้าใบพยุงร่าวาฬให้ลอยอยู่ในน้ำได้ และใช้ผ้าชุบน้ำคลุมรักษาความชุ่มชื่นของผิวหนัง รวมทั้งคอยรดน้ำให้ความชื้นบริเวณครีบหลัง และลำตัว พร้อมกับสับเปลี่ยนกันเฝ้าดูอาการตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจนถึงวันนี้ (3 ธ.ค.) อาการวาฬตัวนี้ยังทรงตัว และหากอาการดีขึ้น ก็จะปล่อยกลับคืนสู่ท้องทะเลต่อไป


สำหรับวาฬเบลน์วิลล์ นั้น ปกติจะอยู่เพียงลำพัง หรือเป็นคู่ แต่อาจรวมฝูง 3-7 ตัว เหมือนกับฮาเร็ม โดยมีเพศผู้เพียงตัวเดียว และเพศเมียหลายตัว และมีการแพร่กระจายค่อนข้างกว้างในเขตร้อน และเขตอบอุ่น ส่วนมากจะพบไกลฝั่งบริเวณที่มีน้ำลึกประมาณ 200-1,000 ม. โดยประเทศไทยพบเพียงตัวเดียวเกยตื้นที่บ้านอ่าวน้ำบ่อ อ.เมือง จ.ภูเก็ต เมื่อเดือน พ.ย. 2554 หรือเมื่อ 12 ปี ที่ผ่านมา