ข่าวทั่วไปข่าวพาดหัวประชุม

ผลักดันฉะเชิงเทราเป็นโมเดลต้นแบบแก้ปัญหาช้างป่า

วันที่ 23 ธันวาคม 2566 นายดิเรก จอมทอง ประธานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากภัยช้างป่าภาคประชาชน ได้ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าว ความคืบหน้าการผลักดันให้จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นต้นแบบหรือโมเดลในการแก้ปัญหาช้างป่าที่ออกจากป่าอนุรักษ์ หลังเข้ายื่นหนังสือขอเข้าพบหารือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ณ ที่ว่าการศาลากลางจังหวัดเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ที่ผ่านมา

นายดิเรก เปิดเผยว่าหลังมีโขลงช้างป่าออกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนช่วงต้นเดือนธันวาคม มากกว่า 150 ตัว ข้ามถิ่นออกหากินไกลถึงเขต ต.วังท่าช้าง อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี สร้างความเสียหายอย่างหนักต่อพืชผลการเกษตรโดยเฉพาะไร่อ้อยที่ชาวบ้านปลูกไว้รอการเก็บเกี่ยว ต่อมาทางสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 และ 2 ร่วมกับราชการส่วนท้องที่ ส่วนท้องถิ่น และอาสาผลักดันช้างป่าอีกหลายชุดสนธิกำลังผลักดันช้างป่าทั้งหมดกลับคืนป่าเขาอ่างฤาในไปแล้วตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา ถัดมาอีก 1 สัปดาห์ได้รับแจ้งว่ามีช้างป่าหลุดรอดสายตาเจ้าหน้าที่อีกไม่ต่ำกว่า 40-50 ตัว จึงเกรงว่าจะเกิดปัญหาสร้างความเสียหายซ้ำซ้อนขึ้นมาอีกและอาจรุนแรงยิ่งกว่าเดิม


ตนจึงได้ทำหนังสือถึงท่านผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อขอเข้าพบและร่วมประชุมหารือแนวทางการผลักดันและแก้ไขปัญหาช้างป่า มีส่วนราชการจากจังหวัดฉะเชิงเทราเข้าร่วม ได้แก่ นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดประธานในที่ประชุม นายปรัชญา พิมพ์พาแป้น นายอำเภอสนามชัยเขต นายอำนวย เกษตรสินธุ์นุกูล นายอำเภอท่าตะเกียบ นายธนศาสตร์ เวียงสารวิน ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด นายพงษ์ศักดิ์ ธีระกิตติวัฒนา หน.สำนักงาน ปภ.จังหวัด นายอนุชา อินทศร หน.สำนักงานจังหวัด จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้แก่ นายเผด็จ ลายทอง ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า นายวีระพงศ์ โคระวัตร หน.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน โดยมีนายศักดิ์ชาย ตันเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ฉะเชิงเทรา เขต 3 และนายไพรินทร์ หนูมาก สมาชิก อบจ.ฉะเชิงเทรา เป็นผู้ประสานงาน และมีคณะกรรมการเครือข่ายฯ จาก จ.ระยอง จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.จันทบุรี เข้าร่วมการประชุมนานราว 3 ชั่วโมง


ที่ประชุมได้หารือในหลายประเด็นแต่ที่สำคัญคือ แผนเชิงปฏิบัติการแก้ปัญหาเร่งด่วนเพราะช่วงปลายปีถึงต้นปีหน้าเป็นช่วงที่ช้างตกมันจะมีความดุร้ายมากกว่าปกติ และเป็นฤดูเก็บเกี่ยวอ้อยซึ่งปลูกมากในพื้นที่รอยต่อ จ.ปราจีนบุรี กับเขต จ.ฉะเชิงเทรา มีความเป็นไปได้สูงมากที่ช้างป่าโขลงใหญ่จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไนจะต้องหาทางออกมาจากแนวคูกั้นช้างเดินไปยังไร่อ้อยซึ่งห่างออกไปอีก 20-30 กม.เกรงจะสร้างความเสียหายรุนแรงโดยเฉพาะอันตรายแก่ชีวิตของทั้งคนและช้างป่า จึงได้เสนอแผนปฏิบัติการป้องกันภัยช้างป่า ให้หลายภาคส่วนร่วมบูรณาการตามข้อสังเกตท้ายรายงานของคณะกมธ.แก้ปัญหาช้างป่า สภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ 25 โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นหัวหน้าหรือผู้บัญชาการเหตุการณ์ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หากได้ผลเป็นที่พอใจจะได้ยึดถือ ฉะเชิงเทราโมเดลเป็นต้นแบในการจัดการปัญหาช้างป่าในจังหวัดอื่นๆ ต่อไป
///////////////////
พิสิษฐ์ รื่นเกษมข่าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์โทร 064-364-1644