วันที่ 6 ม.ค. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานพบว่ามีประชาชนในจังหวัดอ่างทอง ต่างแห่กันเดินทางมาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองของจังหวัดอ่างทอง กันอย่างคึกคัก ตั้งแต่ช่วงเช้ายันค่ำ โดยมีความเชื่อว่าหากได้ไปสักการะศาลหลักเมือง ที่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ในวันเสาร์แรกของปี จะช่วยหนุนดวงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นช่วยให้มีความมั่นคงในชีวิตอย่างรอบด้าน มีชีวิตที่ราบรื่น ไร้อุปสรรคกีดขวาง การงานมีความเจริญก้าวหน้ามั่นคงมากขึ้น ช่วยเสริมความเป็นสิริมงคล เพิ่มพลังบุญ พลังกายและพลังใจในด้านบวก ศาลหลักเมืองจังหวัดอ่างทอง เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สวยงาม สมกับเป็นหลักชัย อ่างทองยังเป็นชื่อที่ดี และหลักใจของประชาชนชาวจังหวัดอ่างทอง
ศาลหลักเมืองจังหวัดอ่างทอง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ได้ทรงพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นาย ทวีป ทวีพาณิชย์ เข้าเฝ้าน้อมเกล้าฯ ถวายยอดเสาหลักเมืองเพื่อทรงเจิม ทรงพระสุหร่ายและทรงบรรจุแผ่นยันต์เมื่อวันที่ 11 เมษายน พุทธศักราช 2534 เวลา 16.30 น. ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (รัชกาลที่ 10) เสด็จไปทรงประกอบพิธียกเสาหลักเมืองและเปิดศาลหลักเมือง เมื่อวันที่ 24 เมษายน พุทธศักราช 2534 เวลา 15.30 น.
ตั้งอยู่ตรงข้ามศาลากลางจังหวัด เป็นอาคารจัตุรมุข (4 หน้า) ยอดปรางค์หลังคาเป็นปูนซีเมนต์ฉาบสีแดง ตัวศาลสูงจากพื้นประมาณ 1.5 เมตร ภายในศาลเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังภาพพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแยกสวยงามมาก ศาลหลักเมืองจังหวัดอ่างทอง เป็นศาลหลักเมืองแห่งที่ 2 ที่มีการเขียนภาพ จิตรกรรมฝาผนังทั้ง 4 ด้าน เสาหลักเมือง ซึ่งประดิษฐานอยู่ในศาลหลักเมืองบนแท่นแปดเหลี่ยม พื้นปูด้วยหินอ่อนทำจากไม้ชัยพฤกษ์ซึ่งถือเป็นไม้มงคล คัดจาก 1 ในจำนวน 5 ต้น ที่นิคมสร้างตนเองพระพุทธบาทจังหวัดสระบุรี มีลักษณะที่เรียกว่า ไม้ขานาง คือลำต้นตรงขึ้นไปแล้วแยกเป็น 2 กิ่ง แบบง่ามหนังสติ๊กโบราณ ถือว่าเป็นไม้ที่เหมาะจะเป็นเสาโบสถ์ หรือเสาวิการ ไม้มงคลซึ่งนำมาทำเป็นเสาหลักเมืองของจังหวัดอ่างทองนั้น ได้ผ่านพิธีคัดเลือกต้นไม้ พิธีตัด พิธีอัญเชิญ พิธีกลึงเสา และฉลองรับขวัญอย่างถูกต้อง ตามพิธีหลวงของสำนักพระราชวังทุกประการ เสาหลักเมืองนี้ได้รับการตกแต่งแกะสลักลงรักปิดทองจากพระครูวิเศษชัยวัฒน์ และ นาย กำจัด คงมีสุข ซึ่งเป็นชาวอ่างทอง
ด้านทิศเหนือของศาลหลักเมือง มีศาลาตรีมุขซึ่งใช้เป็นที่ประทับ หรือที่นั่งขององค์ประธาน หรือประธานในการประกอบพิธีต่างๆ ด้านทิศใต้ มีศาลาทรงไทย 2 หลัง ใช้เป็นสถานที่ให้บริจาคบูชาวัตถุมงคล และดอกไม้ ธูป เทียน ด้านทิศใต้ มีศาลาเรือนไทย เป็นที่รวบรวมของดีเมืองอ่างทองมาจำหน่ายระหว่างตัวศาลหลักเมือง คือ ศาลาตรีมุขซึ่งห่างกันประมาณ 30 เมตร เป็นลานกว้างใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม และการแสดงต่างๆ บริเวณศาลหลักเมืองมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1.5 ไร่ จึงสามารถจัดทำสวนดอกไม้ สวนหย่อม และปลูกหญ้าได้สวยงาม
กนกศักดิ์ / อ่างทอง