#รมช_เกษตรจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร พร้อมเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field Day) อ.ท่าปลา อุตรดิตถ์
วันนี้ (13 พ.ย. 63) เวลา 10.00 น. น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยอธิบดี รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เดินทางตรวจราชการติดตามงานมอบเงินชดเชยเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย จังหวัดอุตรดิตถ์ โดย ณ หอประชุมที่ว่าการ อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ แก่ประชาชนจำนวน 634 ราย เนื้อที่ 1,924 ไร่ รวมเป็นเงิน 3,849,420 บาท
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนลำไยเป็นอย่างมาก ทั้งด้านการผลิตและการตลาด ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบอนุมัติโครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย ปี 2563 เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนลำไยที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรทุกครัวเรือน โดยให้ความช่วยเหลือในอัตราไร่ละ 2,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ เริ่มดำเนินการจ่ายเงินเข้าบัญชีให้แก่เกษตรกรชาวสวนลำไย ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. ถึง 15 ธ.ค. 63 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนลำไยให้สามารถฟื้นฟูการผลิตลำไยทั้งด้านการผลิตและการตลาด ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรมีแนวทางปฏิบัติต่อสวนลำไย เพื่อประกอบอาชีพชาวสวนลำไยได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ได้เป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field Day) เพื่อผลิตลำไยคุณภาพ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตลำไย จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยความร่วมมือจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้บูรณาการร่วมกัน เพื่อสร้างการรับรู้และเปิดโอกาสให้แก่พี่น้องเกษตรกรและหน่วยงานทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา และยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรของไทยให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจังหวัดอุตรดิตถ์นับเป็นแหล่งปลูกลำไยที่มีคุณภาพ มีการบริหารจัดการผลผลิตสินค้าเกษตรเชิงรุกในระดับพื้นที่ โดยใช้กลไกความร่วมมือตามแนวทางประชารัฐ จึงเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญที่สะท้อนถึงการขับเคลื่อนนโยบายหลักของรัฐบาลและการขับเคลื่อนนโยบาย “การตลาดนำการผลิต” ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม ยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องเกษตรกรให้ดียิ่งขึ้น
โอกาสนี้ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้พบปะตัวแทนเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยจังหวัดอุตรดิตถ์มีลูกหลานสมาชิก และเกษตรกรทั่วไป เข้าร่วมโครงการ จำนวน 73 ราย มีผู้เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ 7,559 ราย เพื่อสร้างเสริมความรู้และโอกาสในการใช้ความรู้ที่มีกลับมาพัฒนาภูมิลำเนาของตนเอง ในที่ผ่านมามีเยาวชนทั้ง 73 รายในระยะแรกสามารถเรียนรู้และเพิ่มทักษะในการพัฒนาการเกษตรของตนเองที่มีอยู่จนเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้เลี้ยงตนเองได้ และในระยะที่สองสามารถเพิ่มผลผลิตและช่องทางการจำหน่ายสินค้าจนสามารถมีกำไรจากอาชีพที่เข้าร่วมโครงการได้จนเป็นที่น่าพอใจ และในอนาคตเมื่อเยาวชนรุ่นแรกมีความเข้มแข็งก็จะสามารถขยายสู่ในรุ่นต่อๆ ไปให้มากขึ้น รมช.กล่าวในช่วงท้าย
ปวินท์ อินกล่ำ รายงาน