คณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิม เยี่ยมชมการจุดก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 ระหว่างไทย-มาเลเซีย ที่วางแผนให้ 2 ฝั่ง เป็นเมืองคู่แฝด TWIN CITIES
วันที่ 12 มิ.ย.67 ว่าที่ร้อยตรี ตระกูล โทธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส พร้อมคณะให้การต้อนรับคณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิม (The Organization of Islamic Cooperation) หรือที่รู้จักกันดีในนาม OIC จำนวน 12 คน จาก 8 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศบรูไน อียิปต์ อิหร่าน มาเลเซีย มัลดีฟส์ ไนจีเรีย อินโดนีเซีย และประเทศอุซเบกิสถาน ได้เดินทางถึงที่ทำการด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก และรับฟังบรรยายสรุปข้อมูลการก่อสร้างสะพานฯ แห่งที่ 2 อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และรับฟังการนำเสนอข้อมูลด้านการค้า การส่งออก-นำเข้าสินค้าผ่านด่านพรหมแดนสุไหงโก-ลก ตามโครงการพัฒนาความร่วมมือเพื่อยกระดับการค้าชายแดนระหว่างไทย-มาเลเซีย ผ่านโครงการยกระดับการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยกับรัฐติดกับชายแดนไทยของมาเลเซียสู่การเป็นเมืองคู่แฝด TWIN CITIES พร้อมเยี่ยมชมความก้าวหน้าของโครงการ
สำหรับสะพานโก-ลก หรือ สะพานรันเตาปันจัง – สุไหงโก-ลก เป็นสะพานข้ามแม่น้ำโกลก ที่เชื่อมระหว่างเมืองรันเตาปันจัง รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย และอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ประเทศไทย ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2513 ตามมติข้อเสนอแนะของคณะกรรมการการขนส่งและโทรคมนาคมอาเซียน ในการประชุมระดับรัฐมนตรีของอาเซียน ครั้งที่ 2 ณ กรุงจาร์กาต้า และเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2516 ปัจจุบันเปิดใช้งานมาแล้วเป็นระยะเวลา 51 ปี ซึ่งถือเป็นสะพานที่มีความสำคัญในด้านการพัฒนาเศษฐกิจและด้านการขนส่งคมนาคมเชื่อมต่อระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซียมาอย่างยาวนาน ต่อมาในปี พ.ศ.2551 ประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย มีการขยายการค้า การลงทุนร่วมกันเพิ่มมากขึ้น จึงเริ่มศึกษาความเหมาะสมการก่อสร้างสะพานคู่ขนานเพิ่มเติม เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ
ในปี พ.ศ. 2552 ได้มีมติเห็นชอบร่วมกันให้มีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกคู่ขนานกับสะพานเดิม ภายใต้กรอบความร่วมมือว่าด้วยยุทธศาสตร์ในการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย – มาเลเซีย (Thailand – Malaysia Committee on Joint Development Strategy for border areas : JDS) แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย Indonesia Malaysia Thailand Growth Triangle : IMT – GT โดยจัดตั้งงบประมาณก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 300 ล้านบาท (รับผิดชอบค่าใช้จ่ายคนละครึ่ง) รูปแบบสะพานคู่ขนาน ชนิด Post tension T Beam& RC. Beam ความกว้าง 14 เมตร ความยาว 116 เมตร มีแนวคิดการออกแบบ รูปทรงเรือ
ปัจจุบันโครงการก่อสร้างฯ อยู่ระหว่างขั้นตอนการออกแบบโครงสร้างสะพาน การสำรวจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ถือเป็นการประสานความร่วมมือระหว่าง กรมทางหลวง ประเทศไทย และกรมโยธาธิการ ประเทศมาเลเซียร่วมกัน จึงเปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์และความร่วมมืออันดีระหว่างสองประเทศที่เชื่อมโยงกัน ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การคมนาคม และการขนส่ง เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ ประเทศไทยจะสามารถพัฒนาศักยภาพด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ถือเป็นประโยชน์อันดีร่วมกันในการพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ โครงการสะพานคู่ขนานข้ามแม่น้ำโก-ลก ที่อำเภอสุไหงโก-ลก กับมาเลเซีย จะเป็นจุดร่วมของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและการขนส่ง ของทั้ง 2 ประเทศ ที่สามารถรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจศในอนาคต ดังนั้น การนำเสนอข้อมูลดังกล่าว เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่คณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิม ในโอกาสเดินทางมาร่วมกิจกรรมเสริมสร้างความเข้าใจและสานสัมพันธ์คณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิม ประจำปี 2567 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-13 มิถุนายน 2567 ณ พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) ให้ทราบถึงแนวทางการผลักดันโครงการสะพานคู่ขนานข้ามแม่น้ำโก-ลก ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ จะส่งผลให้มีศักยภาพในเวทีโลกเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตามขณะนี้สะพานข้ามแม่น้ำโกลกแห่งที่ 2 ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนการพูดคุยความร่วมมือในการดำเนินการต่อไป ให้เมืองรันเตาปันจัง รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย และอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เป็น TWIN CITIES หรือเมืองคู่แฝด
/////////////////////////////
ข่าว/ซาการียา/จ.นราธิวาส