ข่าวพาดหัว

สภาเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา และหน่วยงานภาคีเครือข่ายสุขภาวะจังหวัดสงขลา จังหวัดสตูล

28-06-67 พี่เสือ นักข่าว ลงขลา

แถลงการณ์ความห่วงใยต่อการแก้ไข พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขอทบทวน และประเมินผลกระทบที่มีต่อประชาชนเป็นสำคัญ ไม่เอื้อนายทุนใหญ่
วันที่ 28 มิ.ย. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงแรมเซาท์เทิร์นแอร์พอร์ท อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ภาคีเครือข่ายป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัดสงขลา (ภปค.) นำโดย นายชาญวิทูร สุขสว่างไกร ประธาน ภปค. จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้สถานการณ์การแก้ไขกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีภาคีเครือข่าย และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น และจุดยืนต่อต้าน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องแอลกอฮอล์


โดยทางสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา และ หน่วยงานภาคีเครือข่ายสุขภาวะจังหวัดสงขลา จังหวัดสตูล ยังได้ร่วมกันแถลงการณ์ความห่วงใยต่อการแก้ไข พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกด้วย โดยมี นายอภิรักษ์ นิตย์สุพรรณ ประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา เป็นผู้อ่านคำแถลงการณ์
ซึ่งมีเนื้อหาสาระสำคัญระบุว่า ตามที่รัฐบาลมีแนวนโยบายเปิดเสรีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มรายได้เข้าประเทศ และได้เร่งให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และปัจจุบันนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณายกร่างของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง “พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” นั้น
ทางสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา และหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่างๆ มีความห่วงใยต่อกระบวนการแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขอให้ทำการทบทวน เพื่อเป็นการประเมินผลกระทบของนโยบายที่มีต่อประชาชนเป็นสำคัญ
พร้อมกับมีข้อเสนอแนะจากภาคีเครือข่าย กลุ่มองค์กรในจังหวัดสงขลา และสตูล หากมีการแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ คือ ต้องไม่ทำให้ปัญหาและผลกระทบในสังคมเพิ่มมากขึ้น อันเนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเหตุ และไม่เพิ่มจำนวนนักดื่มหน้าใหม่ , ต้องทลายทุนผูกขาด ไม่เอื้อประโยชน์ทุนรายใหญ่ โดยอ้างรายย่อย , ต้องให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบต่อความความเสียหายที่เกิดขึ้นในสังคม อันเนื่องจากคนเมาที่มีผู้ประกอบการสุราเป็นเหตุ


รวมทั้งเสนอการกระจายอำนาจให้คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด และท้องถิ่นในการพิจารณาการจัดการการอนุญาตหรือไม่อนุญาต และแก้ปัญหาผลกระทบและเอาผิดผู้ประกอบการ , เสนอให้ลดโทษทางปกครองเป็นปรับเป็นพินัยจากเดิมเป็นโทษทางอาญา สำหรับความผิดของประชาชนในสถานที่ดื่มต่างๆ เพื่อลดผลกระทบต่อประขาชน แต่ต้องเข้มงวดกับผู้ประกอบการรายใหญ่ และไม่ยอมรับการผ่อนปรนมาตรการ เช่น การขยายเวลาขาย หรือ การโฆษณาที่เอื้อประโยขน์ต่อผู้ประกอบการโดยไม่มีความรับผิดชอบใดๆ
ขณะที่จากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ปี 2550 มีคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปดื่ม 18 ล้านคน หรือ 30.02% ในปี 2564 พบว่านักดื่มอายุ 15 ปีขึ้นไป มีจำนวนลดลง เหลือ 15.9 ล้านคน หรือ 28.0% ซึ่งเป็นเยาวชนอายุ 15 -24 ปี ดื่ม 1.9 ล้านคน หรือ20% ของประชากรกลุ่มนี้ และ 7 แสนคนดื่มหนัก และมีนักสูงหน้าใหม่อายุ 15 – 1 9ปี จำนวน 4.2 แสนคน ซึ่งนักดื่มอายุน้อยที่สุดเพียง 8 ปีเท่านั้น
ด้าน น.ส.ดวงดาว รัตน เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับจังหวัดสงขลาในมูลนิธิเมาไม่ขับ เปิดเผยด้วยว่า ปัจจุบันตนอายุ 58 ปี เป็นเหยื่อเมาแล้วขับกลายเป็นผู้พิการเดินไม่ได้ตลอดชีวิตตั้งแต่อายุ 21 ปี จากอุบัติเหตุเมาแล้วขับจากบุคคลอื่น
จึงอยากวิงวอนให้รัฐบาลเห็นคุณค่าชีวิตของประชาชนมากกว่าเศรษฐกิจ ปัจจุบันขนาดกฎหมายเข้มงวดขนาดนี้ แต่ยังมีคนเมาแล้วขับจนเกิดอุบัติจำนวนมาก ดังนั้นหาก พรบ.ฉบับนี้คลอดออกมา จะส่งผลเสียเป็นอย่างมากต่อประเทศชาติ