กลุ่มโรงเรียนด้อยโอกาส และ ตั้งอยู่ตามพื้นที่ชนบทห่างไกล ในเขตพื้นที่ จังหวัดอุบลราชธานี ร้องผ่านสื่อ ขอความเมตาช่วยเป็นกระบอกเสียงให้โรงเรียน เพื่อสิ่งดีๆ แด่เด็กๆนักเรียนที่ยากจน ร้องขอกองทุนเสมอภาคของระบบทางการศึกษา มานานหลายปี แต่ไม่เคยได้ รู้ทั้งรู้แบบเจ็บใจที่ได้มีแต่โรงเรียนใหญ่ๆ ดังๆ สุดท้ายโรงเรียนบ้านนอก อดรับทุนในโครงการ
นายสุข ยาตรา ผู้จัดการโรงเรียนเทพนิมิต ตำบลแก้งเหนือ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ร้องสื่อช่วย โรงเรียนของตนเป็นโรงเรียนประเภทสามัญ ได้รับความเดือดร้อนและผลกระทบจากกองทุนเสมอภาค เพราะว่า นักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนรัฐและโรงเรียนการกุศลจะได้รับเงินจากกองทุนเสมอภาค แต่โรงเรียนของตนจะไม่ได้รับเงินอุดหนุนในส่วนนี้ ส่งผลให้เกิดการเปรียบเทียบ จนทำให้นักเรียนที่เรียนอยู่ที่โรงเรียนเทพนิมิต ได้ย้ายออกไปเรียนโรงเรียนที่สามารถรับเงินจากกองทุนเสมอภาคเป็นจำนวนมาก เดิมโรงเรียนเทพนิมิตมีนักเรียน 300 กว่าคน ปัจจุบันเหลือเพียง 200 คน ทำให้งบประมาณบริหารโรงเรียนขาดทุนเยอะ ปีนี้ได้รับผกระทบหนักมาก ทางโรงเรียนจึงอยากเรียกร้องให้กองทุนเสมอภาคให้พิจารณาโรงเรียนประเภทสามัญด้วย เพราะทางโรงเรียนได้มีการกรอกข้อมูลลงระบบของกองทุนเสมอภาคมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการพิจารณาได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุน เมื่อสอบถามไปยังต้นสังกัดได้รับคำตอบว่า ไม่มีนโยบายให้โรงเรียนประเภทสามัญ ทำให้โรงเรียนเสียโอกาส ผู้ปกครองนำนักเรียนมาลาออก เพื่อไปเรียนที่โรงเรียนที่ได้รับเงินจากกองทุนเสมอภาค ซึ่งเป็นปัญหาหลักของโรงเรียนในตอนนี้ เพราะนักเรียนลาออกเป็นหลักร้อย ส่งผลกระทบด้านงบประมาณ มันเป็นความเลื่อมล้ำที่ผู้ปกครองมีความคิดว่า อยากได้เงินจากกองทุนเสมอภาคมาช่วยลดภาระค่าใช้ในครอบครัว ส่งลูกเรียน ก็จำเป็นต้องย้ายเด็กออกไปและเป็นข้อเปรียบเทียบชัดเจน
ดังนั้น โรงเรียนเทพนิมิต จึงขอฝากทางผู้เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลให้พิจารณานักเรียนคนที่เข้าหลักเกณฑ์ คนที่ยากจน จริงๆ เขาก็เป็นคนไทยเหมือนกัน อย่างน้อยได้สัก 5-10 คนก็ยังดี จะได้เกิดความเสมอภาคดังเช่นชื่อกองทุนด้วย อีกทั้งยังมีโรงเรียนอื่น ที่มีลักษณะเช่นเดียวกับโรงเรียนเทพนิมิตของตน ร่วมนับ 10 โรงเรียนในจังหวัดอุบลราชธานี ต้องการได้รับเงินจากกองทุนนี้เช่นกัน เพราะถึงแม้จะเป็นโรงเรียนเอกชนแต่จริงๆ ก็ไม่สามารถเก็บค่าเทอมได้เพราะเป็นโรงเรียนในชนบท ไม่เหมือนโรงเรียนเอกชนในเมืองทั่วไป