ข่าวประชาสัมพันธ์องค์กรงานสาธารณกุศลแถลงข่าว

นายกฯ เชิญด่วน หน่วยกู้ภัย ร่วมงาน “ประสานพลัง ประสานใจ” หารือกู้ภัย จิตอาสา และภาคเอกชน ก่อนส่งมอบของอุปโภค-บริโภค ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม

นายกฯ เชิญด่วน หน่วยกู้ภัย ร่วมงาน “ประสานพลัง ประสานใจ” หารือกู้ภัย จิตอาสา และภาคเอกชน ก่อนส่งมอบของอุปโภค-บริโภค ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม

นายกฯ “แพทองธาร” ร่วมงาน “ประสานพลัง ประสานใจ” หารือจิตอาสาและภาคเอกชน ก่อนส่งมอบของอุปโภค-บริโภค ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ยืนยันรัฐบาลพร้อมดูแล ขอให้มั่นใจ สั่งการเยียวยาให้รวดเร็ว ขณะภาคเอกชนพร้อมให้ความช่วยเหลือเต็มที่

วันนี้ (20 กันยายน 2567) เวลา 11.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นประธานในงาน “ประสานพลัง ประสานใจ” เพื่อรับมอบสิ่งของบริจาคอุปโภคบริโภคจากหน่วยงานภาคเอกและภาครัฐเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ประสบภัยต่อไป โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้ง คณะจิตอาสา 12 องค์กร ภาคเอกชน ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัยและดินโคนถล่ม (ศปช.) สื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมด้วย

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี พูดคุยหารือร่วมกับคณะจิตอาสา 12 องค์กรและภาคเอกชน โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณทุกคนที่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที รวมทั้งจิตอาสาต่าง ๆ ด้วย วันนี้ได้มาพูดคุยกันก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน จิตอาสา ประชาชน รวมทั้งหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ต่าง ๆ “ขอขอบคุณทุกท่าน ณ ที่นี้ด้วย” สำหรับสิ่งของต่าง ๆ ที่เข้าไปในพื้นที่โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน มีเพียงพอแล้ว ซึ่งการมาพูดคุยหารือกันวันนี้เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาอะไรได้เพิ่มขึ้นอีก เพราะว่าขณะนี้น้ำจากภาคเหนือได้ไหลลงไปทางภาคอีสานแล้ว เพราะฉะนั้นในวันนี้ ขอให้ทุกคนที่มาร่วมหารือมีข้อมูลอะไร หรือมีอะไรที่จะบอกทางรัฐบาลให้เข้าไปช่วยเหลือก็ขอให้บอกและเสนอได้ โดยรัฐบาลยินดีช่วยเหลือและสนับสนุน หรือมีข้อแนะนำเพื่อให้รัฐบาลปรับปรุงตรงจุดไหน ก็ขอให้แบ่งปันข้อมูลในวันนี้ ถือว่า “เป็นเวทีที่ดี” ที่จะมาบอกเล่าสู่กันฟังว่า “ทำอะไรให้ประชาชนบ้าง หรือประชาชนต้องการอะไรบ้าง”

จากนั้นนายกฯ พูดคุยหารือร่วมกับคณะจิตอาสา 12 องค์กร และภาคเอกชน โดยตัวแทนสมาคมเจ็ตสกีแห่งประเทศไทย กล่าวขอบคุณนายกฯ พร้อมมีข้อเสนอจากที่ได้ลงพื้นที่และคุยกับชาวบ้านในระยะต่อไปเฟสที่ 3 คือการป้องกันปัญหาในระยะยาวไม่ให้น้ำเข้าแม่สายอีก อยากเสนอให้มีการทำเขื่อนริมแม่น้ำแม่สาย โดยใช้เข็มตอกสองฝั่ง ทำเป็นเขื่อนด้านบนเพื่อให้รถวิ่งริมแม่น้ำได้ เป็นการใส่เกาะชั้นที่ 1 มีแนวประมาณ 2 กิโลเมตรจากด่านศุลกากรแม่สายที่ 1 ยาวจนถึงด่านศุลกากรแม่สายด่านที่ 2 อาจใช้งบประมาณไม่เยอะสามารถทำได้รวดเร็วเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมในครั้งหน้า

นายกฯ กล่าวว่า เจ็ทสกีสำคัญมาก ซึ่งได้คุยกับรองนายกรัฐมนตรีว่า เราจำเป็นต้องจัดซื้ออะไรเพิ่มหรือไม่ เพราะบางทีเครื่องมือใหญ่ ๆ เรือใหญ่ ๆ เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านไม่ได้ แต่เจ็ตสกีสามารถเข้าไปได้ คนอายุมาก หรือคนป่วยติดเตียงก็จะได้รับตัวออกมาได้

ด้านทีมตอบโต้ภัยพิบัติ RDAT มูลนิธิสยามนนทบุรี กล่าวสะท้อนความคิดเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ทำไมเราไม่มีการรายงานตัวแบบออนไลน์เป็นกู้ภัยแห่งชาติ โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ อยู่ในแอพพลิเคชั่นดังกล่าว ให้รัฐบาลเป็นแกนกลางสั่งการ ซึ่งจะทำงานได้ง่ายไม่ต้องเสียเวลาไปรายงานตัวกับอำเภอ จังหวัด แล้วนั่งรองาน เพราะการรายงานใช้เวลาครึ่งวันกว่าจะได้เข้าพื้นที่ทำงาน ดังนั้นควรจะมีแอพพลิเคชั่นกลางในการจ่ายงานและการขอความช่วยเหลือผ่านแอพพลิเคชัน ซึ่งวันนี้เทคโนโลยีสามารถทำทุกอย่างได้แล้วควรจะพัฒนาในเรื่องนี้ และหากมีแล้วก็ต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ

ขณะที่ประธานมูลนิธิเพชรเกษม กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลเป็นตัวกลางในการขับเคลื่อนกลุ่มอาสาสมัคร เนื่องจากพวกเราเป็นแขนขาของรัฐบาลอย่างแท้จริง และสิ่งหนึ่งที่อยากได้โดยเป็นการขอความอนุเคราะห์จากรัฐบาล คือให้ยกเว้นภาษีองค์กรการกุศล เนื่องจากเป็นองค์กรที่ทำเพื่อประเทศชาติ โดยให้รัฐบาลพิจารณาว่าองค์กรไหนเข้าเกณฑ์ และขอให้ช่วยประสานงานแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในการที่ทีมอาสาสมัครเข้าไปช่วยเหลือประชาชน จึงขอให้บูรณาการอาจจะทำเป็นเลนให้เจ้าหน้าที่ 1 เลน และขอให้ดูแลอาสาสมัครที่ลงไปปฏิบัติหน้าที่และเกิดอุบัติเหตุ

นายภูมิธรรม กล่าวว่า สิ่งที่นายกฯ เน้นย้ำคือการช่วยเหลือชีวิตคนเป็นเรื่องสำคัญ และได้รับรายงานเรื่องโคลน จึงได้ประสานไปยัง 4 หน่วยงาน ทั้งกองทัพและกระทรวงมหาดไทย ให้นำกำลังพลขึ้นไปช่วยขุดโคลน พร้อมกับนำเครื่องมืออุปกรณ์เข้าไปช่วยจัดการปัญหาด้วย ซึ่งบ้านเรือนที่ถูกโคลนไหลเข้าไปในบ้านมีจำนวน 500 – 1,000 หลังคาเรือน ซึ่งเรื่องของโคลนเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด เพราะหากโคลนแห้งจะทำให้แก้ไขได้ยาก

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กล่าวว่า ตนคิดว่าสิ่งที่เราต้องรีบทำเป็นเรื่องของสุขภาพของผู้ประสบอุทกภัย นอกจากเรื่องอาหารแล้วต้องมีเรื่องยาป้องกันโรคต่าง ๆ ตนยินดีและเต็มที่ และตนก็ทราบการติดขัดเรื่องการสื่อสาร เราจะเข้าไปช่วยอย่างเต็มที่ เชื่อว่าทั้งทรูและ AIS จะรีบเข้าไปศึกษาจุดยุทธศาสตร์และนำสัญญาณเข้าไป ส่วนเรื่องแอพพลิเคชั่นก็มีความพร้อม หากทางภาครัฐ ประชาสังคม จะนำไปใช้งานสื่อสารได้อย่างเป็นทางการ โดยแจ้งประสานงานมาได้
ด้านกู้ภัยคนแม่สาย กล่าวว่า การแจ้งเตือนของทางผู้ใหญ่บ้านไม่ทั่วถึง บางครั้งแจ้งเตือนบ่อยจนชาวบ้านไม่แน่ใจว่าน้ำจะขึ้นจริงหรือไม่ จนไม่มีความน่าเชื่อถือ เพราะน้ำมาจริง ๆ เราตั้งตัวไม่ทัน ขณะเดียวกันทีมงานกู้ภัยในอำเภอแม่สาย เครื่องมือไม่ครบ ในวันที่น้ำมาเราเข้าหน้างานอย่างเต็มกำลัง แต่ช่วยเหลือได้แค่ 40% ไม่มีเจ็ตสกี ไม่มีอุปกรณ์ที่จะอพยพคนออกมาทันที ต้องรออีก 1 วัน

นายกฯ กล่าวสรุปในช่วงท้ายว่า ขอบคุณทุกท่านที่สละเวลามา เชื่อว่าทุกคนทุกหน่วย ได้ทำแต่ละส่วนต่างกันไป แต่ทุกส่วนคือสิ่งสำคัญ สิ่งที่รัฐบาลตั้งใจคืออยากให้ความทุกข์ของพี่น้องประชาชนสั้นที่สุด อย่างตอนเยียวยา ดินโคลนถล่ม เราอยากให้ฟื้นฟูกลับมาอยู่ในสภาพเดิมให้เร็วที่สุด เป็นศูนย์รวมน้ำใจของคนไทย เพื่อช่วยคนไทยด้วยกันเอง อันนี้คือสิ่งสำคัญต้องขอบคุณทุกท่านอีกครั้ง วันนี้เรามาร่วมกันด้วยความที่เรามีจิตใจตรงกัน คือจิตใจที่จะช่วยเหลือเพื่อนคนไทยด้วยกัน ฉะนั้นไม่มีใครมากไปกว่ากันหรือน้อยไปกว่ากัน ทุกคนตั้งใจที่จะช่วยจริง ๆ แน่นอนทุกคนที่ส่งกำลังใจอย่างน้อย ๆ เป็นสิ่งดี เป็นเรื่องดีที่ทำให้ทุกคนมีกำลังใจทำงานต่อไป ขอให้กำลังใจหน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาต้องเหนื่อยกันมาก ขอให้มีกำลังใจสู้ต่อ และแน่นอนภาคเอกชนทั้งหมดที่ช่วยส่งของยังไม่ขาดสาย ทั้งเรื่องสุขาและอีกหลายบริษัทที่มาช่วยเหลืออย่างเต็มที่ น้ำใจของคนไทยยังอยู่ทั่วทั้งแผ่นดินไทย ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี พระราชทานกระแสความห่วงใยมาตั้งแต่วันแรก ๆ ถือว่าอย่างน้อย ๆ ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น แต่คนไทยยังรักกันและยังโชคดี

จากนั้น นายกฯ ได้ออกมายังบริเวณ เสาธงหน้าตึกสันติไมตรี เพื่อรับมอบสิ่งของอุปโภค บริโภค อาหารแห้ง จากภาคเอกชน อาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) มูลนิธิเอสซีจี SC ASSET กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ บริษัท แสนสิริ จํากัด (มหาชน) ก่อนเดินเยี่ยมชมรถลำเลียงอุปกรณ์ของเหล่าทัพ พร้อมให้กำลังใจกำลังพลของเหล่าทัพที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชน ต่อจากนั้นนายกฯ ได้เดินมายังสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า กล่าวขอบคุณความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอีกครั้งว่า ขอบขอบคุณทุกความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและจิตอาสา ที่ทำให้เห็นว่าประเทศเราแม้มีภัยพิบัติแต่ยังโชคดีที่คนไทยมีน้ำใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รัฐบาลจะทำหน้าที่ประสานพลังให้ประชาชนทั้งประเทศ วันนี้ที่เรามาร่วมกันเป็นภารกิจที่ทุกคนร่วมใจและอยากเยียวยาให้พี่น้องที่ประสบภัยตอนนี้มีความทุกข์ให้น้อยที่สุด

สำหรับหน่วยงานและองค์กรที่มอบสิ่งของอุปโภค – บริโภค ไปยังพื้นที่ประสบภัย ประกอบด้วย เครือเจริญโภคภัณฑ์ มอบน้ำดื่ม 5,000 โหล ข้าวสารตราฉัตร 5 กิโลกรัม 5,000 ถุง มูลนิธิเอสซีจี และเอสซีจี มอบสุขากระดาษ 1,000 ชุด บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มอบถุงน้ำใจ 1,000 ชุด กลุ่มบริษัท คิงส์ เพาเวอร์ มอบถุงยังชีพ 1,000 ชุด บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มอบน้ำดื่มตราช้าง ขนาด 1.5 ลิตร 1,000 แพ็ค ผ้าห่มไทยเบฟ 10,000 ผืน บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) มอบผลิตภัณฑ์อุปโภค-บริโภค จำนวน 16,835 ชิ้น บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) มอบเงินบริจาค 1,000,000 บาท กลุ่มบริษัท ยูนิลิเวอร์ ประเทศไทย มอบผลิตภัณฑ์อุปโภค-บริโภค จำนวน 251,832 ชิ้น มูลค่า 8,290,648 บาท บริษัท เรนวูด (ประเทศไทย) จำกัด มอบเงินบริจาค 1,000,000 บาท กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี มอบถุงยังชีพ 1,000 ชุด บริษัท ไทยนครพัฒนา จำกัด มอบยาช่วยเหลือผู้ประสบภัย จำนวน 10,000 แผง บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) มอบอาหารแห้ง และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บริจาคน้ำดื่ม 100,000 ขวด