ข่าวทั่วไปข่าวพาดหัว

สสส. เครือข่ายพุทธิกา และภาคีเครือข่าย จัดงาน “365วิธี เติมสุขปลุกสติให้ใจวัยทำงาน” นำหลักธรรมะประยุกต์ใช้ จัดการภาวะหมดพลังในการทำงาน

สสส. เครือข่ายพุทธิกา และภาคีเครือข่าย จัดงาน “365วิธี เติมสุขปลุกสติให้ใจวัยทำงาน”
นำหลักธรรมะประยุกต์ใช้ จัดการภาวะหมดพลังในการทำงาน

ปัจจุบันภาวะหมดพลังในการทำงาน (Burnout syndromes) ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ถือว่า เป็นโรคใหม่ที่เกิดขึ้นกับผู้คนในยุคปัจจุบัน เพราะเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อทั้งจิตใจและร่างกาย หลายคนตกอยู่ในภาวะนี้ จนรู้สึกไร้พลังใจในการดำเนินชีวิต ด้วยเหตุนี้ “มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา” โดยได้รับการสนับสนุนจาก “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ” (สสส.) และคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดทำเครื่องมือ “365 วิธีเติมสุขให้ใจ” ขึ้น เพื่อให้เป็นเครื่องมือสร้างประสบการณ์ตรงที่ทุกคนสามารถเข้าถึงเพื่อการสร้างสุขและการฝึก “รู้เนื้อ-รู้ตัว-รู้กาย-รู้ใจ” นำไปสู่การพัฒนาความสุขอย่างยั่งยืนภายในจิตใจของตัวเอง


งาน “365วิธี เติมสุขปลุกสติให้ใจวัยทำงาน” จัดขึ้น ณ มูลนิธิบ้านอารีย์ โดยภายในงานมีการบรรยายธรรมพิเศษหัวข้อเติมสุขปลุกสติสำหรับวัยทำงานจาก “พระไพศาล วิสาโล” นอกจากนี้ยังมีการเสวนาแลกเปลี่ยน แนะนำเครื่องมือดูแลใจ โดยวิทยากรหลากหลายท่าน ได้แก่ “วีรพงษ์ เกรียงสินยศ” รองประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา พร้อมด้วย “ชมัยภร บางคมบาง” กรรมการบริหารคณะที่ 8 (สสส.) และ  “ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์” ผู้รวบรวม 365 วิธีเติมสุขให้ใจ รวมถึง “ภูษิต รัตนภานพ” อาจารย์ประจำคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งในงานมีประชาชนทั่วไปให้ความสนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
นางชมัยภร บางคมบาง กรรมการบริหารคณะที่ 8 สสส. กล่าวว่า “สสส. ตระหนักถึงปัญหาของคนวัยทำงาน โดยเฉพาะในสังคมเมืองที่ชีวิตต้องเผชิญกับความเครียดและความกดดันหลายอย่าง ทั้งสภาพเศรษฐกิจและสังคม รายงานผลการสำรวจ Pain point ของคนวัยทำงาน ปี 2567  จัดทำขึ้นโดยโครงการพื้นที่เรียนรู้เพื่อดูแลหัวใจคนวัยทำงานและองค์กรเครือข่าย (Happy Growth Learning Space) ร่วมกับธนาคาร จิตอาสา มีผู้เข้าร่วมทำแบบสำรวจทั้งหมด 700 คน (จาก 5 องค์กร)  พบว่า ความทุกข์ (pain point) ของคนวัยทำงานส่วนใหญ่กำลังเผชิญ อันดับหนึ่งคือ การหมดพลังจากการทำงาน (Burnout) ร้อยละ 28 รองลงมาเป็น ปัญหาการทำงานเป็นทีม (Teamwork-related problems) ร้อยละ 19 อันดับสามเป็น การขาดเป้าหมายในชีวิต ร้อยละ 11 อย่างไรก็ตามเป็นสิ่งที่น่าสังเกตว่ามีผู้ตอบแบบสำรวจร้อยละ 5 กำลังเผชิญกับภาวะซึมเศร้าหรือเสี่ยงซึมเศร้าด้วย


ทั้งนี้ สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สสส.) ได้ขับเคลื่อนงานในมิติด้านสุขภาวะทางปัญญา (Spiritual Health)  สนับสนุนให้เกิด เครื่องมือ “365 วิธีเติมสุขให้ใจ” เพื่อให้คนได้เข้าถึงประสบการณ์ตรงในการสร้างสุขภาวะทางปัญญา เป็นหนทางในการดูแลใจอย่างยั่งยืนใน  มุ่งโดยเปิดพื้นที่ออนไลน์เพื่อให้เข้าถึงคนวัยทำงานในทุกกลุ่ม มีรูปแบบให้เลือกหลากหลาย ทั้งเป็นหนังสือ เป็นคลิปวิดีโอ เป็นพอดแคสต์ และเป็นสื่อ Interactive บนเว็บไซต์   เพื่อให้สามารถเข้าถึงได้ทุกพื้นที่ทุกเวลา”

ด้าน นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ รองประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา กล่าวว่า   “เป้าหมายหนึ่งในการทำงานของพุทธิกา คือเราพยายามประยุกต์พระพุทธศาสนาให้มาอยู่ในชีวิตประจําวัน ให้เข้าใจและเข้าถึงได้ง่ายๆ ซึ่งต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าในยุคสมัยนี้หลายคนก็ไม่ได้ถึงกับปฏิเสธเข้าวัด  แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีแรงจูงใจอะไรที่จะทำให้เขาเข้าวัด หรือว่าหากต้องการหาคําตอบในการคลี่คลายปัญหาชีวิตหรือคลี่คลายความทุกข์ วัดก็ไม่ใช่คำตอบของคนรุ่นใหม่เสียแล้ว  เราจึงได้จัดทำเครื่องมือนี้ขึ้นมาเพื่อให้เป็นสิ่งที่จะช่วยทําให้เราได้เรียนรู้เท่าทันตัวเอง อยู่กับภาวะอารมณ์หรือความคิดของเรา  โดยใช้หลักพุทธศาสนามาเป็นแกนหลัก ซึ่งจากการศึกษาและวิจัยสมัยใหม่ และศาสตร์พัฒนาตัวเองแบบดั้งเดิมในรูปแบบศาสนา รวมถึงคำสอนต่างๆ ล้วนสอดคล้องกันว่า “ความรู้สึกตัว” เป็น “ประตู” หรือ “เสาหลัก” สู่การดูแลร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ หรือ “สุข” ดังนั้น  เราจึงนำหลักธรรมมาย่อยให้เข้าถึงง่าย ออกแบบเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย โดยที่หากได้ฝึกอย่างสม่ำเสมอก็เท่ากับว่าได้ฝึกปฏิบัติ ได้เรียนรู้การจัดการกับอารมณ์ตัวเอง นั่นก็คือการได้พัฒนาภายในจิตใจของตัวเอง และเมื่อคนในสังคมต่างได้รับการพัฒนาภายใน มีสุขภาวะทางปัญญาที่ดี ก็เท่ากับเป็นการร่วมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งคําว่าสิ่งแวดล้อมก็ไม่ได้หมายถึงมนุษย์เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงธรรมชาติ สรรพสัตว์ต่างๆ มันคือระบบนิเวศทางสังคม ที่ล้วนส่งผลต่อกันและกันทั้งหมด”
ในส่วนของ อาจารย์ภูษิต รัตนภานพ อาจารย์ประจำคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ตัวแทนคณะทำงานในส่วนของการเขียนภาพประกอบ กล่าวว่า “มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกากับมหาวิทยาลัยศิลปากรได้ร่วมมือกันทำงานมาโดยตลอด ครั้งนี้ทางพุทธิกาให้โจทย์เรามาเป็นหลักธรรมต่างๆ ซึ่งในช่วงที่เราทำงานร่วมกันนั้น เป็นจังหวะของช่วงที่เพิ่งเปิดภาคเรียน จึงมอบให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ส่งโจทย์ธรรมะแต่ละข้อที่ได้มาให้กับเด็กๆ ไป เพื่อให้เขานำไปตีความออกมาเป็นภาพ ซึ่งเมื่อนักศึกษาได้มีส่วนร่วมทำงานนี้ก็เกิดผลดีกับตัวพวกเขาเองที่ได้เกิดการเรียนรู้หลักธรรมในการดูแลใจของเขาไปพร้อมๆ กับการทำงานการตีโจทย์เพื่อให้เกิดเป็นภาพออกมา นั่นคือเขาได้ซึมซับไปแล้ว  และที่สำคัญชิ้นงานของเขาได้เผยแพร่ออกสู่สังคมวงกว้าง ก็ทำให้พวกเขาเกิดความภาคภูมิใจ”

ผู้ที่สนใจใช้เครื่องมือ 365 วิธีเติมสุขให้ใจ” อ่านได้ที่ Ebook

หนังสือ “เติมสุข 365”