ท่องเที่ยว วิถีวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ ท้องถิ่น เทศกาลลอยกระทง”ลำพูน
วันที่ 5 พย.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน นายประภัสร์ ภู่เจริญ นายกเทศมนตรีเมืองลำพูน นางเกศกนก เดชมา ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดลำพูน นายไชยยง รัตนอังกูร ลำพูนซิตี้แลป ร่วมกันแถลงข่าวท่องเที่ยว วิถีวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ ท้องถิ่น เทศกาลลอยกระทงของจังหวัดลำพูน
นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวว่า จังหวัดลำพูนได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเมืองว่าเป็น “เมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บนความพอเพียง” ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองอย่างเป็นองค์รวมในทุกมิติทั้งเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่สร้างสรรค์ก็เป็นนโยบายสำคัญประการหนึ่งของจังหวัดลำพูนที่ช่วยสร้างรายได้ให้ประชาชน ขณะเดียวกันก็เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับวิถีวัฒนธรรมชุมชน การธำรงรักษาจารีตประเพณีอันดีงามที่สามารถปรับตัวยืดหยุ่นเข้ากับบริบทยุคสมัยใหม่ได้โดยไม่ละทิ้งรากเหง้าดั้งเดิม งานกิจกรรมประเพณีของจังหวัดลำพูนมีการจัดในทุกช่วงเวลาตลอดปี ซึ่งในช่วงนี้ได้เริ่มเข้าสู่ช่วงเทศกาลยี่เป็งล้านนา ซึ่งจังหวัดลำพูนก็ได้มีการจัดประเพณียี่เป็ง หรือลอยกระทงเช่นเดียวกับจังหวัดอื่นๆ แต่ด้วยแนวคิดสร้างสรรค์ที่สอดคล้องไปกับจารีตปฏิบัติเดิม จึงได้มีการจัดเทศกาล “โคมแสนดวง” ขึ้น ณ วัดพระธาตุหริภุญไชย ซึ่งแต่ละปีก็ได้มีการจัดยิ่งใหญ่ขึ้นจนกลายเป็นเทศกาลประจำจังหวัด เช่น เดียวกับประเพณีสลากย้อม เป็นต้น” “งานเทศกาลโคมแสนดวง ได้กลายมาเป็นหมุดหมายหลักของกิจกรรม และสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดลำพูน ในปีนี้ทางจังหวัดได้รับงบประมาณสนับสนุนการจัดกิจกรรมเทศกาลประจำจังหวัด จากรัฐบาล โดยมอบหมายให้สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดลำพูนเป็นผู้ดำเนินงาน ที่จะจัดงาน “โคมเล่าเรื่องเมืองลำพูน” เพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้เทศกาลโคมแสนดวงมีความยิ่งใหญ่ ขยายพื้นที่จัดงานกว้างขวางกระจายในหลายจุดให้สามารถเชื่อมโยงพื้นที่ประวัติศาสตร์ และย่านชุมชนในเขตเมืองเก่าได้มากขึ้น ผ่านการเล่าเรื่อง “โคม” กับ “เมือง” ในมิติต่างๆ ซึ่งเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่ถูกร้อยเรียงผ่านเรื่องราว ผู้คน สิ่งของ และเมืองอย่างผูกพัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน”
ด้าน นายประภัสร์ ภู่เจริญ นายกเทศมนตรีเมืองลำพูน กล่าวถึงบทบาท และการมีส่วนร่วมของเทศบาลเมืองลำพูนในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ในส่วนของเทศบาลเมืองลำพูนได้ตอบสนองและสนับสนุนนโยบายของจังหวัดอย่างเต็มที่ ทั้งในเรื่องการอำนวยความสะดวกของพื้นที่จัดกิจกรรมของโครงการ “โคมเล่าเรื่องเมืองลำพูน” และในส่วนที่เทศบาลเมืองลำพูนดำเนินการเอง เช่น การประดับตกแต่งเมืองด้วยโคมยี่เป็ง – โคมล้านนา ปรับภูมิทัศน์เมืองเพื่อส่งเสริมเทศกาลให้น่าท่องเที่ยว ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยมชมงาน ตลอดจนเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของพื้นที่ ชุมชน ผู้คน วัฒนธรรม ซึ่งช่วยกระจายรายได้ไปยังพี่น้องประชาชน ซึ่งโคมที่ใช้ประดับประดาตกแต่งเมืองของโครงการฯ นี้ทั้งหมด มาจากแหล่งผลิตภายในจังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้กับพี่น้องชาวจังหวัดลำพูน นอกจากนี้ เทศบาลได้ช่วยสนับสนุนการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ร่วมกับภาครัฐในการช่วยกันจัดงานนี้เพื่อให้เป็นงานของพวกเราชาวจังหวัดลำพูนอย่างเต็มภาคภูมิ”
นางเกศกนก เดชมา ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดลำพูน ได้เล่าภาพรวมของกิจกรรม “โคมเล่าเรื่อง เมืองลำพูน”
ถึง กิจกรรม “โคมเล่าเรื่องเมืองลำพูน” จัดขึ้นภายใต้โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวสร้างสรรค์จังหวัดลำพูน ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๗ ได้รับมอบหมายจากทางจังหวัดลำพูนในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ โดยกิจกรรมแบ่งออกเป็น ๒ ส่วนหลัก คือ ส่วนการประดับตกแต่งเส้นถนนและจุดแลนด์มาร์คของเมือง จำนวน ๓ เส้นทาง ได้แก่ ถนนท่านาง ระยะทาง ๑๖๐ เมตร ถนนอินทยงยศ (จากแยกวัดศรีบุญเรืองจนถึงห้างแจ่มฟ้า) ระยะทาง ๕๗๐ เมตร และถนนรถแก้ว ระยะทาง ๒๗๐ เมตร และการประดับตกแต่งเมืองในจุดแลนด์มาร์คของเมือง จำนวน ๔ จุด ได้แก่ จุด “ประทีปแสงแห่งชีวี” ณ ข่วงเจดีย์ชัยชนะ บริเวณลานจอดรถห้างสรรพสินค้าแจ่มฟ้าพลาซ่า (ถนนอินทยงยศ) มีการประดับตกแต่งด้วยซุ้มโคมแปดเหลี่ยมประดับไฟบริเวณซุ้มประตูทางเข้าข่วงเจดีย์ชัยชนะทั้งสองข้างฝั่งถนนอินทยงยศ และถนนวังซ้าย และจะมีการจุดประทีปรอบองค์เจดีย์ชัยชนะในช่วงการจัดกิจกรรมตลาดวัฒนธรรมจุด “ลอยสะเป่าเล่าวิถี” บริเวณด้านหน้าประตูท่านาง เป็นการประดับตกแต่งด้วยโคมแปดเหลี่ยม และสะเปา หรือเรือสำเภาตามวิถีปฏิบัติของชาวหริภุญชัยในอดีต คือการทำสะเปากาบกล้วยเพื่อลอยในประเพณียี่เป็ง เชื่อมโยงกับประตูท่านางที่ทอดลงสู่ลำน้ำ จุด “ดาราจรัสศรีรุ่งเรืองรอง” ณ บริเวณหน้าศาลากลาง (เก่า) มีการประดับตกแต่งโคมแปดเหลี่ยมเป็นแผงสองข้างริมรั้วศาลากลาง และโคมดาว สอดคล้องกับชื่อของจุดแลนด์มาร์ค
จุด “โคมแสงส่องบุญบันดาล” บริเวณประตูมหาวัน จุดนี้จะประดับตกแต่งด้วยโคมผัดขนาดใหญ่ ส่องไฟสว่างไสวและโคมล้านนารูปแบบอื่นๆ ให้นักท่องเที่ยวได้ชม และสัมผัสความงดงามของโคมล้านนาในจังหวัดลำพูน กำหนดระยะเวลาการประดับตกแต่งเมืองรวม 30วัน ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน – 8 ธันวาคม นี้นอกจากนี้ยังมี กิจกรรมพิเศษ “เช็ค & แชร์” ที่ให้นักท่องเที่ยวถ่ายภาพจุดแลนด์มาร์คพร้อมเช็คอิน และแชร์ภาพกิจกรรมลงบนพื้นที่โซเชียลมีเดียของตนเอง จนครบทั้ง ๔ จุด สามารถนำมาแลกรับของที่ระลึกได้ ณ จุดประชาสัมพันธ์งาน บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด (เก่า) ได้ตั้งแต่วันที่ ๘ พฤศจิกายน – ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๗ สามารถติดตามกิจกรรมนี้ได้ผ่าน FACEBOOK FANGAFE โคมเล่าเรื่องเมืองลำพูน กิจกรรมตลาดวัฒนธรรม “แอ่วกาดแลง แยงกาดมืดเมืองหละปูน” ณ ข่วงเจดีย์ชัยชนะ (ลานจอดรถด้านหลังห้างแจ่มฟ้า ถนนอินทยงยศ) เพื่อย้อนรำลึกถึง “กาดมืด” ตลาดเช้าในอดีตของชาวเวียงลำพูน โดยจะมีการออกร้านจำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรม สินค้าพื้นถิ่น สินค้าร่วมสมัย อาหารพื้นเมืองและอาหารร่วมสมัยกว่า ๓๐ ร้านค้า มีงานศิลปหัตถกรรม การแสดงดนตรีพื้นเมืองและร่วมสมัย การสาธิตภูมิปัญญาต่างๆ รวมถึงการละเล่นพื้นบ้านที่ให้ผู้คนหลากหลายวัยได้มาร่วมกิจกรรม โดยจัดจำนวน ๒ ครั้งๆ ละ ๓ วัน ครั้งแรก จัดขึ้นในวันที่ศุกร์ ๘ – วันอาทิตย์ที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๗ และครั้งที่สองจัดขึ้นในวันที่ ศุกร์ ที่ ๑๕ (วันลอยกระทง) – วันอาทิตย์ที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๗ ในงานนี้จะมีกิจกรรมพิเศษ “ดับไฟ จุดประทีป” ย้อนรำลึกถึง “กาดมืด” หรือตลาดเช้าของชาวเวียงลำพูนในอดีต ที่มาจับจ่ายซื้อข้าวของในตลาดแต่เช้ามืด ณ บริเวณที่ปัจจุบันเป็นลานจอดรถด้านหลังห้างแจ่มฟ้าปัจจุบัน ตั้งแต่เวลา ๑๘.๓๐ – ๑๙.๐๐ น. เพื่อรำลึกถึงบรรยากาศของ “กาดมืด” ในอดีต นอกจากนี้ยังมีการประกวด “หนูน้อยจาวกาด” และการประกวด “แม่เฮือนงาม แอ่วกาด” ซึ่งเป็นกิจกรรมพิเศษที่จัดขึ้นเพื่อความสนุกสนาน เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชน รวมถึงบุคคลทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม
สำหรับกิจกรรม “โคมเล่าเรื่องเมืองลำพูน” ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมอย่างไรบ้าง ประโยชน์ของโครงการที่ภาคประชาชนจะได้รับ ความคาดหวัง และโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ นายไชยยง รัตนอังกูร ลำพูนซิตี้แลปในภาคประชาชน ได้มีส่วนร่วมและมีบทบาทในกิจกรรมนี้ คือ ได้เล่าและแบ่งปันเรื่องราวของเมือง ชุมชน และผู้คน ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับ “โคม” ความสำคัญและประวัติศาสตร์ของสถานที่ ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมการประชุมปรึกษาหารือร่วมกันตั้งแต่การออกแบบร่างโครงการฯ จนถึงการออกแบบแผนการดำเนินงานร่วมกับทีมงานผู้จัด มีการสัมภาษณ์เพื่อเก็บข้อมูลเรื่องราว เรื่องเล่า ตำนานท้องถิ่น ที่ยังคงมีการเล่าขานจากรุ่นสู่รุ่น ที่ทำให้พื้นที่เมืองลำพูนยังคงมีชีวิตชีวา และผูกพันสายใยระหว่างคน กับเมืองตลอดระยะเวลาอันยาวนาน นอกจากนี้ ชุมชนใกล้เคียง เช่น ชุมชนชัยมงคล ชุมชนท่านาง ชุมชนช้างรอง ฯลฯ ได้มีส่วนร่วมรับทราบและเสนอแนะแนวทางในการจัดงานด้วยเช่นกัน.
ฟงหวิน ศักดิ์อัศวิน/// เชียงใหม่