จังหวัดตาก ร่วมกับ 17 จังหวัดภาคเหนือ เตรียมการป้องกันและแก้ไขไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองในเขตพื้นที่ 17 จังหวัด โดยการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
วันที่ 21 ม.ค. 64 เวลา 09:00 น. ที่ห้องประชุมสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตาก นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก พร้อมด้วย พลตรี สุปัญญา วิไลรัตน์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 310 นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ และนายศักดิ์ชัย โชติมานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก พันเอก อาสาฬหะ พูลสุวรรณ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดตาก (ฝ่ายทหาร) นายปัญญารัตน์ รังศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตาก นายสวนิต สุริยกุล ณ อยุธยา ปลัดจังหวัดตาก และหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมการเตรียมการป้องกันและแก้ไขไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองในเขตพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ประจำปี 2564 ผ่านระบบ Video Conference ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยมี พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3 เป็นประธานการประชุม
โดยที่ประชุม ได้รับทราบแผนและการเตรียมการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองในเขตพื้นที่ 17 จังหวัด , ลักษณะสภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือในห้วงเดือน ม.ค. – พ.ค. 2564 โดยศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ , กลไกการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับประเทศ โดยกรมควบคุมมลพิษ , การบรรยายการให้บริการจุดความร้อน (Hotspots) จากดาวเทียม โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (Gistda) และการบรรยายเกี่ยวกับการใช้ Application ระบบสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวล ไฟดี “Fire Management Dicision Support System” จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัด 17 จังหวัดภาคเหนือ ได้ชี้แจงแผนการบูรณาการและการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละออง ในสถานการณ์วิกฤตของแต่ละจังหวัด
สำหรับ จังหวัดตาก มีพื้นที่ป่าไม้ จำนวน 7.78 ล้านไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ 7 แห่ง (เตรียมการประกาศอุทยานฯ อีก 3 แห่ง) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 5 แห่ง และป่าสงวนแห่งชาติ 15 ป่า ซึ่งสาเหตุหลักของการเกิดไฟป่า เกิดจากการเข้าไปทำกิจกรรมในป่า ได้แก่ การเก็บหาของป่า , ล่าสัตว์ , เลี้ยงสัตว์ , มีที่ทำกินในเขตป่า , กำจัดวัชพืช วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร แล้วจุดไฟด้วยความประมาท หรือด้วยความตั้งใจ
ทั้งนี้ จังหวัดตาก ได้มีมาตรการดำเนินการฯ ได้แก่ การจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ของจังหวัด แยกเป็นรายอำเภอ ก่อนมีการประกาศห้ามเผาเด็ดขาด , การจัดการเครือข่าย และพรานป่า , การจัดการคนเก็บป่า และผู้หาของป่า , การจัดทีมลาดตระเวนดับไฟ , ด่านตรวจเข้าพื้นที่ป่า , การประกาศช่วงห้ามเผาเด็ดขาด (ระหว่างวันที่ 1 มี.ค. – 30 เม.ย. 64) และประกาศปิดป่า หากมีการยกระดับสถานการณ์ รวมถึงการการบังคับใช้กฎหมาย ด้วย
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการลดการเกิดมลพิษด้านทาง PM 2.5 ได้แก่ การควบคุมและลดมลพิษจากยานพาหนะ , จากอุตสาหกรรม , จากการก่อสร้าง และจากภาคครัวเรือน , มาตรการเพิ่มความชุ่มชื้นลดค่าฝุ่นละออง PM , การป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดน , การกำหนดสถานที่พักชั่วคราว (Safety Zone) และการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึงในทุกช่องทาง อีกด้วย
ภาพข่าว สนง.ปชส.จังหวัดตาก
สมภพ รายงาน