ข่าวทั่วไป

ชาวสวนทุเรียนบนภูเขาดอยกินได้เตรียมเฮ รมต.กระทรวงทรัพฯ รับจะเร่งพิจารณาสิทธิทำกินตามแนวทาง คทช.

ชาวสวนทุเรียนบนภูเขาดอยกินได้เตรียมเฮ รมต.กระทรวงทรัพฯ รับจะเร่งพิจารณาสิทธิทำกินตามแนวทาง คทช.

22 มกราคม 2564 นายบุญส่ง ณะสิงห์กำนัน ต.แม่พูล อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ พร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่ รวมทั้ง นายจรูญ ปัญญายงค์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่พูลและผู้นำชาวสวนทุเรียนในพื้นที่ตำบลแม่พูล ได้เข้ายื่นหนังสือแสดงความเดือดร้อนไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินทำกินให้กับ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในโอกาสลงพื้นที่ตรวจราชการในจังหวัดอุตรดิตถ์โดยนายบุญส่ง ณะสิงห์ ได้กล่าวชี้แจงถึงปัญหาดังกล่าวกับ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมต.กระทรวงทรัพยากรฯ ว่า ชาวสวนทุเรียนในพื้นที่ตำบลแม่พูล อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ได้รับมรดกตกทอดอาชีพการทำสวนทุเรียนบนภูเขามาแต่ครั้งบรรพบุรุษ สืบทอดมาหลายช่วงอายุคน ซึ่งยังมีต้นทุเรียนพื้นเมืองโบราณอายุร่วม 200 ปี ยังคงมีอยู่ในพื้นที่ ต่อมาในปี 2527 ได้มีประกาศกฎกระทรวง ให้พื้นที่ป่านานกกกและพื้นที่ป่าในตำบลแม่พูลเป็นพื้นที่ป่าสงวนและพื้นที่ป่าไม้ถาวร ส่งผลให้พื้นที่ทำสวนของเกษตรกรในตำบลแม่พูล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์กลายเป็นพื้นที่ป่าสงวนและพื้นที่ป่าถาวร ส่งผลให้เกิดความเดือดร้อน ชาวสวนกลายเป็นผู้บุรุกป่าทั้งที่อาศัยป่าผืนนี้ทำกินมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ
กำนันตำบลแม่พูลได้กล่าวต่อไปว่า การที่เกษตรกรชาวสวนทุเรียนในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ใดๆส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้เลย ที่สำคัญ คือเรื่องไม่ได้รับการรับรอง GAP.หรือการรับรองมาตรฐานสินค้าทางการเกษตร ทำให้ผลผลิตถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อทุเรียนกดราคาโดยเอาเรื่อง GAP.มาเป็นข้ออ้างในการกดราคารับซื้อ

ด้านนายวรวุธ ศิลปอาชา รมต.ว่าการกระทรวงทรัพยากรฯกล่าวว่า ทางกระทรวงทรัพยากรฯมีนโยบายที่จะดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยอาศัยแนวทาง คณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ หรือ คทช. โดยในปี มีพื้นที่เป้าหมาย 7 ล้านไร่ทั่วประเทศ โดยจะเร่งดำเนินการให้เสร็จในปี 2564 นี้ พร้อมทั้งกำชับและเร่งรัดให้พื้นที่ คือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเร่งรัดดำเนินการสำรวจพื้นที่ให้แล้วเสร็จโดยเร็วและรีบนำเสนอคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติโดยเร็ว


สำหรับพื้นที่ตำบลแม่พูล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นแหล่งกำเนิดทุเรียนดังอร่อยมีชื่อเสียงระดับโลกคือทุเรียนหลงลับแลอีกทั้งผลผลิตทุเรียนหมอนลับแล(หมอนทอง)ในแต่ปีมีมูลค่าเกือบ 2 พันล้านบาท
ปวินท์ อินกล่ำ รายงาน