ข่าวทั่วไปข่าวประชาสัมพันธ์

ตาก – ผู้ตรวจการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานเปิดงานและร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความร่วมมือ MOU 7 ภาคี ในงานประชุมวิชาการสุขภาพประชากรข้ามชาติ เนื่องในวันผู้อพยพย้ายถิ่นฐานสากล

ตาก – ผู้ตรวจการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานเปิดงานและร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความร่วมมือ MOU 7 ภาคี ในงานประชุมวิชาการสุขภาพประชากรข้ามชาติ เนื่องในวันผู้อพยพย้ายถิ่นฐานสากล

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมทับทิมสยาม ตึก OPD ชั้น 8 โรงพยาบาลแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ดร.นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ประธานเปิดการประชุมฯ และเป็นสักขีพยานการลงนามความร่วมมือ MOU 7 ภาคี ในงานประชุมวิชาการสุขภาพประชากรข้ามชาติ เนื่องในวันผู้อพยพย้ายถิ่นฐานสากล

โดยผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะองค์กรกำกับดูแลด้านสุขภาพและการสาธารณสุขของประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาสุขภาพของทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย ซึ่งรวมถึงสุขภาพของประชากรข้ามชาติ โดยงานด้านสาธารณสุขชายแดน เป็นหนึ่งในนโยบายมุ่งเน้นของกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากพื้นที่ชายแดนถือเป็นด่านหน้าในการป้องกันและควบคุมโรคระบาดที่จะเข้าสู่ประเทศ นอกจากนี้ พื้นที่ชายแดนยังมีบริบทของงานสาธารณสุขที่แตกต่างจากพื้นที่ปกติ ทั้งด้านสภาพภูมิศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม จึงทำให้การปฏิบัติงานในพื้นที่มีลักษณะเฉพาะ ทั้งในด้านความหลากหลายทางประชากร การจัดสรรทรัพยากรและการเข้าถึงบริการ การเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรค รวมไปถึงการวางระบบสุขภาพข้ามพรมแดน ดังนั้น ความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐภายในและภายนอกกระทรวงสาธารณสุข สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน มูลนิธิ และองค์กรต่างๆ รวมทั้งภาคประชาสังคม จึงมีความสำคัญต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการจัดการด้านสาธารณสุขชายแดนเป็นอย่างยิ่ง การประชุมวิชาการในครั้งนี้ จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้หน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการด้านสุขภาพประชากรข้ามชาติ ได้มารวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การพัฒนาสาธารณสุขในพื้นที่ชายแดน และบทเรียนการจัดการสุขภาพสำหรับประชากรข้ามชาติ ทั้งในระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติการ รวมไปถึงการเสริมพลังความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาควิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อขับเคลื่อนงานสาธารณสุขชายแดน ตลอดจนการพัฒนาข้อเสนอในการพัฒนาระบบสุขภาพประชากรข้ามชาติในพื้นที่ชายแดน ให้พร้อมรับมือกับปัญหาด้านสาธารณสุขชายแดน ควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุข เพื่อให้ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพ และมีสุขภาพที่ดี เมื่อเจ็บป่วยได้รับการดูแลอย่างถูกต้องและเหมาะสมต่อไป////ภาพข่าว กิตติศักดิ์ บุญจันทร์