จังหวัดพะเยาประชุมรับรองแปลงมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS ครั้งที่ 1/2564 จำนวน 132 แปลง รวมพื้นที่ 934.9 ไร่
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 ณ ห้องประชุมคณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา จังหวัดพะเยา คณะกรรมการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS จังหวัดพะเยา โดยมีสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนพะเยา เป็นคณะทำงานและเลขานุการ และดำเนินการภายใต้โครงการวิจัยโครงการวิจัยการพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน จังหวัดพะเยาสู่การสร้างชุมชนนวัตกรรม
(มหาวิทยาลัยพะเยา)และบริษัท ออร์แกนิคพะเยา วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ได้จัดประชุมเพื่อรับรองแปลงเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม ครั้งที่ 1/2564 ซึ่งเป็นการจัดประชุมรับรองครั้งที่ 2 ที่ประชุมมีมติรับรองแปลงเกษตรอินทรีย์ จำนวน 16 แปลง รวมพื้นที่ 110.75 ไร่ และแปลงระยะปรับเปลี่ยนสู่เกษตรอินทรีย์ จำนวน 116 แปลง พื้นที่ 824.15 ไร่ รวมทั้งสิ้น 132 แปลง รวมพื้นที่ 934.9 ไร่
โดยทีม คณะที่ปรึกษาและคณะทำงานสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแบบมีส่วนร่วม SDGsPGS จังหวัดพะเยา SDGsPGS (Sustainable Development Goals Participatory Guarantee Systems) จังหวัดพะเยา ได้รับการแต่งตั้งโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา นายกมล เชียงวงค์ ณ.วันที่ 19 ธันวาคม 2562 และมีทีมคณะกรรมการรับรองแปลงอินทรีย์ ประกอบด้วยคณะที่ปรึกษาได้แก่ ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ นายกสมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนไทย นายเชษฐา สุขประเสริฐ ประธานสหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทย และนายเอกพงศ์ มุสิกะเจริญ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คณะกรรมการจากส่วนราชการ ได้แก่ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและสารสนเทศ ม.พะเยา ประธานคณะทำงาน คณบดีคณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ ม.พะเยา รองประธานคณะทำงาน และได้ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมครั้งนี้ นอกจากนั้นก็มีในส่วนคณะกรรมการได้แก่ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดพะเยา เกษตรจังหวัดพะเยา ปศุสัตว์จังหวัดพะเยาสหกรณ์จังหวัดพะเยา อุตสาหกรรมจังหวัดพะเยา ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพะเยา ปฏิรูปที่ดินจังหวัดพะเยาผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินพะเยา ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดพะเยา ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพะเยา ผู้อำนวยการสำนักงาน ธกส.จังหวัดพะเยา คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยพะเยา และรองประธานสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนเชียงรายมาร่วมขับเคลื่อนเครือข่ายกลุ่มจังหวัดด้วย การประชุมรับรองวันนี้มีตัวแทนเกษตรกรที่เป็นคณะกรรมการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วมและขอรับรองแปลงเข้าร่วมสังเกตการณ์และให้ข้อมูลเพิ่มเติมประมาณ 50 คน โดย มีผู้จัดการท็อป พะเยา คุณ ภวิลทิบดี อุ่นต๊ะ มาร่วมประชุมและสนับสนุนอาหารว่างและน้ำดื่มด้วย
และได้รับเกียรติจาก นายเอกพงศ์ มุสิกะเจริญ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยนวัตกรรม มีร่วมประชุมและให้แนวทางในการจัดการข้อมูลแปลงในฐานข้อมูล OAN online การบันทึกของผู้ตรวจแปลง ระบบการกลั่นกรองในหลากหลายมิติ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากข้อมูลผลผลิตในการจัดการผลผลิตเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตลาดระหว่างสมาพันธ์ ในรูปแบบ organic future market network ที่จะจัดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ และคุณชายกร สินธุสัย จาก สวทช. มาร่วมในการให้ข้อมูลด้านมาตรฐานตั้งแต่ระดับพื้นฐานคือ 5ส GHP รวมถึงการเชื่อมโดยมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่การผลิตต้นทาง จนสู่ระบบการแปรรูปกลางทางให้ได้ระบบอินทรีย์ การจัดการขนส่งให้ได้มาตรฐานอินทรีย์ตลอดทั้งระบบ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและความเชื่อมั่นของ SDGsPGS สู่สายตาผู้บริโภค โดยในปีนี้ทางสมาพันธ์เกษตรกรรมพะเยาได้พัฒนาข้อมูลการตรวจแปลงด้วยการอัดคลิปลงช่องยูทูปสั้นๆ ประมาณ 1 นาที ให้เกษตรกรเจ้าของแปลงได้แนะนำตัว แนะนำกิจกรรมผลผลิตในแปลง รวมถึงแรงบันดาลใจในการทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อประกอบในการพิจารณาการรับรองแปลงอินทรีย์ และผลการวิเคราะห์สารตกค้างในผลผลิตทางการเกษตร โดยได้รับความอนุเคราะห์จากห้องปฏิบัติการกลาง ภายใต้สถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ม.พะเยา ในการรับตรวจผลผลิตจากเกษตรกรฟรีในรอบปีนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจอีกชั้นหนึ่ง รวมถึงการตรวจระดับความเสี่ยงของการได้รับสารเคมีในเลือดของเกษตรกร โดยทดสอบในเกษตรกรจำนวน 98 ราย ได้ผลปลอดภัย 60 ราย คิดเป็น ร้อยละ 61.22 ผลไม่ปลอดภัย 10 ราย คิดเป็นร้อยละ 10.21 ผลเสี่ยง 28 ราย คิดเป็นร้อยละ 28.57
และได้มีการทบทวน คำสั่ง เรื่อง แต่งตั้งคณะที่ปรึกษาและคณะทำงานสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแบบมีส่วนร่วม SDGsPGS จังหวัดพะเยา เพื่อปรับปรุงคณะกรรมการชุดต่างๆให้เหมาะสมในการขับเคลื่อนอย่างแท้จริง และเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาทำการแต่งตั้งใหม่ต่อไป นอกจากนี้ทางสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนพะเยา ได้มีการจดทะเบียนในรูปแบบ บริษัท พะเยา ออร์แกนิค วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ได้นำเสนอโครงสร้างการบริหารและแนวทางในการระดมหุ้นส่วน และวางแผนการตลาดและการผลิตให้สอดคล้องกันในอนาตต
ปิดท้ายด้วยวาระอื่นๆ ซึ่งหน่วยงานต่างๆที่เข้าร่วมเป็นกรรมการได้สะท้อนสิ่งที่ได้ประชุมร่วมกัน ทุกคนแสดงความชื่นชมทีมงานเกษตรกรและสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนพะเยา ทุกหน่วยงานยินดีที่ได้ร่วมงาน และพร้อมนำไปสู่การขยายเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ให้กว้างขวางขึ้น และครอบคลุมทั้ง 9 อำเภอของจังหวัดพะเยา โดยจะมีการจัดตั้งทีมผู้ตรวจแปลงและกลั่นกรองในระดับอำเภอเพื่อสร้างการขับเคลื่อนในระดับอำเภอสู่ระดับตำบลต่อไป
//รายงานโดย ผศ.น.สพ.สมชาติ ธนะ ประธานสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนพะเยา