วันสุดท้ายก่อนปิดบ่อขยะในค่ายทหาร 21 อปท.ประจวบฯส่อวุ่น หลังชาวบ้านเขาย้อยค้านบรรทุกขยะทิ้งข้ามจังหวัด
วันที่ 30 มิถุนายน นายจีรวัฒน์ พราหมณี ปลัดเทศบาลเมืองหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า จากกรณีเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล ( อบต.) รวม 21 แห่งพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวหลายอำเภอในจังหวัด ได้รับแจ้งให้ยุติการนำขยะไปทิ้งที่บ่อบำบัดขยะรวมแบบฝังกลบภายในศูนย์การทหารราบค่ายธนะรัชต์ (ศร.) อ.ปราณบุรี ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม นี้เป็นต้นไป คาดว่าทำให้มีผลกระทบหลายด้าน โดยเฉพาะเทศบาลเมืองหัวหินมีขยะวันละ 170-190 ตัน ที่ผ่านมาเทศบาลได้วางแผนจัดหาพื้นที่กำจัดขยะแห่งใหม่ ที่บ่อกำจัดขยะของ บริษัท อังรุ่งโรจน์ จำกัด ต.สระพัง อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี เนื้อที่ประมาณ 2,000 ไร่ แต่ปรากฏว่าขณะนี้มีการคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่ ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตั้งแต่วันที่ 1 กรกฏาคม เป็นต้นไป เทศบาลจะต้องจัดหาสถานที่บำบัดขยะชั่วคราว หากยังไม่มีพื้นที่จะต้องจัดหาสถานที่สำหรับพักขยะก่อนนำไปบำบัด ซึ่งในอนาคตทำให้เทศบาลมีภาระค่าใช้จ่ายในการบำบัดขยะสูงขึ้น
นายสุทธิพร เที่ยงธรรม ปลัดเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า เทศบาลต้องใช้งบจ้างเอกชนบำบัดกำจัดขยะปีละ 15 ล้านบาทหรือเดือนละ 1.5 ล้านบาท เพื่อนำไปทิ้งที่ อ.เขาย้อย ยอมรับว่าขณะนี้ปัญหาขยะในพื้นที่ยังไม่แนวทางแก้ไขที่ชัดเจน แม้ว่าเทศบาลได้ซื้อที่ดินสำหรับทำโครงการบำบัดขยะไว้หลายแปลง แต่ประชาชนในพื้นที่ไม่ยอมให้ทำโครงการเพราะกลัวผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขณะที่ปัจจุบันงบประมาณของเทศบาลมีอย่างจำกัด เนื่องจากรายได้การจัดเก็บภาษีไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และหากประชาชนที่ อ.เขาย้อย มีการคัดค้านการนำขยะจาก จ.ประจวบฯไปบำบัดก็น่าจะมีผลกระทบกับเทศบาลเมืองที่มีขยะวันละ 45 -50 ตัน แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับการประสานงานเพื่อยกเลิกสัญญาจากบริษัทเอกชนผู้รับจ้าง
นายสมนึก รุ่งกำจัด ประธานอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) จ.ประจวบคีรีขันธ์ คณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัด กล่าวว่า เพื่อเริ่มต้นแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ผู้ว่าราชการจังหวัดควรสนใจทำหน้าที่ประธานการประชุมกรรมการจัดการขยะระดับจังหวัดด้วยตนเอง จากนั้นเชิญ 8 นายอำเภอ นายกเทศมนตรี นายก อบต.และ นายก อบจ.ร่วมประชุม โดยกำชับให้ผู้บริหารท้องถิ่นเข้าประชุมด้วยตนเองเท่านั้น เพื่อกำหนดแผนและแนวทางแก้ปัญหาในระยะสั้น ไทม์ไลน์ในการทำงาน โดยมอบหมายให้แต่ละอำเภอร่วมกันทำแผนหาวิธีการจัดขยะในลักษณะพึ่งพาตนเอง จากนั้นมีการติดตามประเมินผล
มีรายงานว่า หลังจากชาวบ้านเขาย้อย จ.เพชรบุรี ยื่นคัดค้านการนำขยะจาก อปท. 21แห่ง จาก จ.ประจวบฯไปทิ้งนอกเขตนั้น ล่าสุดทั้งเทศบาล อบต.หลายแห่งในพื้นที่พยายามเร่งหาสถานที่ทิ้งของตนเองเป็นการชั่วคราว โดยเทศบาล และอบต.ในพื้นที่ อ.เมือง อ.กุยบุรีและ อ.สามร้อยยอด ส่วนหนึ่งจัดหาสถานที่ทิ้งแบบฝังกลบในพื้นที่ของเอกชนที่ อ.กุยบุรี เนื่องจากมีปริมาณขยะรวมไม่มาก
นายสราวุธ ลิ้มอรุณรักษ์ นายก อบจ.ประจวบฯ กล่าวว่า ปัญหาขยะในจังหวัดมีการพูดคุยกับเทศบาล และ อบต. เพื่อหาแนวทางที่จะมีโรงงานกำจัดขยะ โดยมีทางเลือกจากการนำขยะมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า เนื่องจากในภาพรวมมีขยะเฉลี่ยวันละ กว่า 280 ตัน แต่เป็นการลงทุนของภาคเอกชน จึงต้องมีการศึกษาผลกระทบ การรับฟังความเห็นจากประชาชนและยังมีอีกหลายขั้นตอน ใช้เวลานานพอสมควร ทราบว่าเทศบาลตำบลเขาน้อย อ.ปราณบุรีได้ กำลังประสานกับเทศบาลและ อบต.หลายแห่ง แต่ที่สำคัญการแก้ไขปัญหาขยะทุกฝ่ายต้องร่วมมือ หาวิธีการลดขยะจากต้นทางให้ได้เพื่อลดต้นทุนในการบำบัด
/////////
พิสิษฐ์รื่นเกษมข่าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์โทร 099 339 6444