‘บิ๊กโจ๊ก’ ลุยเมืองพัทยา SMART SAFETY ZONE
‘บิ๊กโจ๊ก’ ลุยเมืองพัทยาชูการทำงานตำรวจแนวใหม่ ตรงจุด ตรงประเด็น สานยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี วางแนวทางการทำงานโครงการ SMART SAFETY ZONE 4.0 นำร่อง 15 สถานีตำรวจ ก่อนต่อยอดโครงการ 1 SMART SAFETY ZONE 1 จังหวัดทั่วประเทศ สภ.เมืองพัทยา รับลูกลุยโครงการ “Jomtien Pattaya SMART SAFETY ZONE 4.0″
ตามนโยบาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้จัดทำโครงการ SMART SAFETY ZONE 4.0 โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนารูปแบบวิธีการป้องกันอาชญากรรมเชิงรุก การสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากอาชญากรรม จัดระบบการป้องกันอาชญากรรมในรูปแบบบูรณาการทุกภาคส่วน โดยใช้นวัตกรรมและยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ตามแนวคิดเรื่อง “เมืองอัจฉริยะ” อันจะนำไปสู่ความปลอดภัยจากอาชญากรรมอย่างยั่งยืน
วันที่ 15 ก.ย.64 พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษา (สบ9) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยม สภ.เมืองพัทยา ซึ่งเป็น 1 ใน 15 สถานีตำรวจนำร่องโครงการ SMART SAFETY ZONE 4.0 โดยมีตัวแทนชุมชน ตัวแทนเมืองพัทยา รวมถึงผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมรายละเอียดโครงการดังกล่าว ที่ห้องประชุม ศปก.สภ.เมืองพัทยา จ.ชลบุรี โดยใช้เวลาประชุมแสดงความคิดประมาณ 1 ชั่วโมงจึงแล้วเสร็จ
พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษา (สบ9) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ด้วยรัฐบาลกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มอบหมายให้ สตช. ดูยุทธศาสตร์ความมั่นคง ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยร่วมกับผู้บริหารท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินโครงการสมาร์ทเซฟตี้โชน เนื่องด้วยทางตำรวจมีกำลังพร้อมปฏิบัติ แต่ไม่มีงบประมาณ จึงต้องเป็นเจ้าภาพเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพราะมีงบประมาณในการพัฒนาท้องถิ่นในการยกระดับความปลอดภัยให้กับประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง
โครงการ SMART SAFETY ZONE 4.0 จะทำให้ประชาชนในเมืองพัทยาเกิดความอุ่นใจ โดยใช้ตัวชี้วัดเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก คือ 1.ดัชนีในเรื่องของความหวาดกลัวภัย และ 2. ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เป็นเรื่องของการป้องกันตามแนวทางการทำงานของตำรวจยุคใหม่ คนละส่วนกับเรื่องคดีอาญา 4 กลุ่ม ที่จะเป็นเรื่องของการปฏิบัติปราบปราม
สำหรับบุคคลเสี่ยง ได้แก่ บุคคลที่เพิ่งพ้นโทษออกมานั้น ในทุกเดือนๆ ละ 1 ครั้ง สวป.ต้องเข้าไปเคาะประตูบ้านติดตามชีวิตว่ามีความเป็นอยู่เป็นอย่างไร ให้กลุ่มคนเหล่านั้นรู้สึกว่าอยู่ในสายตาเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งจะทำให้ประชาชนในชุมชนนั้นๆ เกิดความอุ่นใจ เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องทำงานให้คนดีอยู่ได้ คนร้ายอยู่ยาก ตามแนวทางที่ ผบ.ตร.ได้ฝากไว้
ทั้งนี้ การวัดผลการทำงานนั้นจะต้องยึดในเรื่องสถิติ ซึ่งขณะนี้ทาง สตช.ได้ดำเนินการ PEOPLE POLL เพื่อฟังเสียงความต้องการของประชาชน การทำโพลล์ต้องยึดประชาชนเป็นหลักและมีรายการปฏิบัติแบบเรียลไทม์ ทางผู้กำกับการสถานีต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อรวบรวมข้อมูลเรื่องร้องเรียนต่างๆ ที่ประชาชนร้องเรียนมาแต่ละเดือน และแก้ไขไปทีละเรื่อง ปัญหาของชาวบ้านก็จะลดน้อยลงไป
อย่างไรก็ตาม สำหรับพื้นที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี เป็นโครงการนำร่อง 15 สถานี เป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาใช้ต่อยอดจากโครงการตำรวจชุมชนสัมพันธ์ ซึ่งจากการดำเนินการทั้ง 15 สถานีที่ผ่านมา พบว่าประชาชนตอบรับเป็นอย่างดี และสอบถามมาตลอด ก่อนในปี 2565 ทาง สตช.จะได้ดำเนินการต่อในเรื่องของ 1 สมาร์ทซิตี้โซน 1 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งตนเองจะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการต่อไปเพราะถือว่าอายุราชการยังอีกนาน
มีข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากโครงการดังกล่าว ทาง สภ.เมืองพัทยา ได้กำหนดพื้นที่ปลอดภัยขึ้นบริเวณโซนพื้นที่หาดจอมเทียน ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบจำนวน 9.97 ตารางกิโลเมตร โดยได้ร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ร่วมดำเนินการในพื้นที่รับผิดชอบ โดยใช้ชื่อว่า “Jomtien Pattaya SMART SAFETY ZONE 4.0″ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ ได้รับทราบ ถึงการดำเนินการตามโครงการดังกล่าวอย่างเข้มข้นและทั่วถึง โดยมีการดำเนินการดังนี้
1.จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการสั่งการและควบคุมเฝ้าระวังเหตุอาชญากรรม (Control Command Operations Center : CCOC ) ซึ่งมีกล้อง CCTV จำนวน 190 ตัว
2.ระบบรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน (เสา SOS) บริเวณชายหาดจอมเทียน
3.ระบบ Line Official Account : “Pattaya Police” ของ สภ.เมืองพัทยา เพื่อใช้ประชาสัมพันธ์ข่าวสาร สร้างการรับรู้ให้กับประชาชน
4.กลุ่มไลน์แจ้งเหตุสำหรับ ธนาคาร และ ร้านค้าทอง
5.กลุ่มไลน์แจ้งเหตุสำหรับ ชุมชนต่างๆ
6.Facebook Fan Page “สภ.เมืองพัทยา” เพื่อใช้ประชาสัมพันธ์ข่าวสาร สร้างการรับรู้ให้กับประชาชน
7.Application : Police lert U สำหรับใช้ในการแจ้งเหตุฉุกเฉินของประชาชน
8.นำ Application Police 4.0 มาใช้ปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจจุดตรวจ ปักหมุดจุดเสี่ยง ตรวจเยี่ยมประชาชน และตรวจสอบยานพาหนะ
9.นำ Application Crimes Online มาใช้ปฏิบัติหน้าที่ เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการตรวจสอบบุคคล ยานพาหนะ ของผู้ต้องสงสัย และผู้กระทำความผิด
10.ร่วมกับผู้นำชุมชน ปรับปรุงสภาพแวดล้อมในเขตพื้นที่ เพื่อลดช่องว่างในการก่ออาชญากรรมของคนร้าย ป้องกันอาชญากรรม คุมเข้มพื้นที่เสี่ยง และแหล่งมั่วสุมของวัยรุ่น
11.ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาชน เชื่อมสัญญาณกล้องวงจรปิด จุดที่สำคัญ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเหตุให้กับจุดเสี่ยงนั้นๆ และเฝ้าระวังการก่ออาชญากรรมเกี่ยวกับทรัพย์ให้กับประชาชน และ
12.นำอากาศยานไร้คนขับ (DRONE) ตรวจสอบพื้นที่ การจราจร การมั่วสุมของกลุ่มบุคคลน่าสงสัย และกลุ่มวัยรุ่นในพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพการป้องกันเหตุ
ภาพ/ข่าว นิราช/นันฐพล/พิชญ์ฐญา ทิพย์ศรี จ.ชลบุรี
พรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก