ข่าวทั่วไป

ผู้บัญชาการทหารเรือ ตรวจเยี่ยมชุดเฉพาะกิจเรือผลักดันน้ำ พร้อมร่วมกิจกรรมจิตอาสาพระราชทาน

ผู้บัญชาการทหารเรือ ตรวจเยี่ยมชุดเฉพาะกิจเรือผลักดันน้ำ พร้อมร่วมกิจกรรมจิตอาสาพระราชทาน

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 6 ตุลาคม 2564 พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพเรือ พร้อมคณะ ได้เดินทางมาที่ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพเรือ ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองสำโรงบริเวณหน้าวัดบางโฉลงนอก อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เพื่อร่วมกิจกรรมจิตอาสาพระราชทาน เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ ป้องกันน้ำท่วม พร้อมเข้าตรวจเยี่ยมให้กำลังใจกับกำลังพลจิตอาสากองทัพเรือที่ปฏิบัติงานเรือผลักดันน้ำ ของชุดเฉพาะกิจผลักดันน้ำ อู่ทหารเรือป้อมพระจุลจอมเกล้า กรมอู่ทหารเรือ พร้อมร่วมกิจกรรมจิตอาสา กับกำลังพลจิตอาสากองทัพเรือ ที่ประจำการณ์อยู่ที่เรือผลักดันน้ำมาสนับสนุนการเร่งระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2564 เป็นต้นมา ซึ่งปัจจุบัน มีเรือผลักดันน้ำปฏิบัติภารกิจในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 26 ลำ แบ่งวางตามจุดต่างๆ จำนวน 6 จุด ประกอบด้วย จุดที่ 1 คลองลาดกระบัง ข้างแม็คโคร บางพลี จำนวน 3 เครื่อง จุดที่ 2 คลองลาดกระบัง ข้าง บ.บางกอก แอร์เวย์ จำนวน 3 เครื่อง จุดที่ 3 คลองขุด ถ.ตำหรุ – บางพลี ต.บางพลี จำนวน 4 เครื่อง จุดที่ 4 สถานีอนามัยบางปลา คลองบางปลา จำนวน 6 เครื่อง จุดที่ 5 สะพานกู้พารา คลองสำโรง ต.บางพลีใหญ่ จำนวน 4 เครื่อง จุดที่ 6 สะพานวัดบางโฉลงนอก คลองสำโรง ต.บางโฉลง จำนวน 6 เครื่องโดยในช่วงแรกมีการเดินเครื่องทั้งหมดวันละ 20 ชั่วโมง ในการวางเรือผลักดันน้ำในครั้งนี้ มีเป้าหมายในการเร่งระบายน้ำออกไปยังคลองบางปลา และคลองส่งน้ำสุวรรณภูมิ เพื่อส่งมวลน้ำออกสู่ทะเลให้มีประสิทธิภาพในการระบายน้ำท่วมขังให้เร็วที่สุด หลังจากนั้นได้ร่วมกับจิตอาสาของจังหวัดสมุทรปราการ ลงเรือเก็บขยะผักตบชวาที่ลอยอยู่ในคลองสำโรงเพื่อไม่ให้เข้าไปกีดขวางการทำงานของเรือผลักดันน้ำ

เรือผลักดันน้ำของกองทัพเรือนั้น ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำหลาก มาตั้งแต่ปี 2538 ซึ่งแนวความคิดนี้ ปัจจุบันกรมชลประทาน ได้นำไปดัดแปลงระบบ เพื่อใช้แก้ไขปัญหาระบบน้ำทั่วประเทศ และจากองค์ความรู้ ในการสร้างเรือผลักดันน้ำ ทำให้กองทัพเรือสามารถสร้างเรือผลักดันน้ำขึ้นใหม่เพื่อให้ทันต่อการนำไปใช้ในพื้นที่ประสบอุทกภัยในปี 2554 ทั้งยังสนองต่อพระราชดำริแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการนำอุปกรณ์เครื่องยนต์ที่มีอยู่เดิมมาผลิตและพัฒนาขึ้นใหม่เป็น 3 ขนาด คือขนาด 320 แรงม้า ผลักดันน้ำได้ 150,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน ขนาด 220 แรงม้า ผลักดันน้ำได้ 100,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน และขนาด 120 แรงม้า ผลักดันน้ำได้ 30,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน เรือผลักดันน้ำนับว่าเป็นประโยชน์ต่อการระบายน้ำเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการระบายน้ำออกสู่ทะเลได้ครั้งละปริมาณมาก อีกทั้งยังสามารถชะล้างไล่ดินเลนที่ตกตะกอนอยู่ก้นแอ่งให้หมดไป ทำให้น้ำไหลได้สะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่เป็นแอ่ง เป็นบึงและคอขวด เนื่องจากเป็นที่ลุ่มระบายน้ำออกได้ลำบากและไหลได้ไม่เร็ว

สุรศักดิ์ คงสินธ์ / ธนวัต นาคขำ จ.สมุทรปราการ 089-6955389