ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอยุธยาแจกข้าวกล่อง 1 พันกล่องช่วยเหลือชาวบ้าน บางบาลยังถูกน้ำท่วมอ่วม
วันที่ 6 ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าวเดินทางลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลังการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา มีการระบายท้ายเขื่อนในอัตรา 2,749 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และที่เขื่อนพระรามหก มีการระบายอยู่ที่ 762 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำและคลองธรรมชาตินอกคันกั้นน้ำชลประทาน ได้รับผลกระทบน้ำเอ่อล้นตลิ่งกว่า 10 อำเภอในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้รับผลกระทบหนัก
โดยลงไปที่ชุมชนตำบลบ้านคลัง อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบว่าบ้านเรือนพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ปลูกติดริมแม่น้ำน้อย ซึ่งได้รับน้ำมาจากการระบายของเขื่อนเจ้าพระยา ส่งผลให้บ้านเรือนภายในชุมชนกว่า 100 หลังคาเรือนถูกน้ำท่วมสูง โดยเฉพาะบ้านที่ปลูกติดริมน้ำ ต้องถูกน้ำท่วมสูงไปแล้วครึ่งบ้าน กว่า 2 เมตร ต้องอาศัยการเข้าออกโดยเรือเข้าออกบ้าน เพื่อไปทำงาน งานความอยู่อยากลำบาก ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำเมื่อคราวได้ที่น้ำขึ้นสูงก็จะถูกเข้าท่วมทุกครั้ง
ขณะเดียวกัน ดร.กำนัน ธวัชชัย นิมา ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมคณะกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เดินทางลงพื้นที่เพื่อสำรวจความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม หลังจากได้รับแจ้งจากกำนันในพื้นที่ จึงจัดโครงการ ร่วมมือ ร่วมใจ สู้ภัยน้ำท่วม นำ ข้าวกล่อง จำนวน 1,000 กล่องนำมาแจกจ่ายช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น
ดร.กำนัน ธวัชชัย นิมา ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ช่วงสถานการณ์น้ำท่วมนี้ เมื่อได้รับการประสานจากกำนันในพื้นที่ ตนเองพร้อมคณะจึงเล็งเห็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ว่าสิ่งใดที่เราพอช่วยได้ เราจึงเดินทางเป็นตัวแทนกำนันทั้งจังหวัดนำข้าวกล่อง มาช่วยเหลือทันทีเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน พร้อมขอเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนเราจะต้องผ่านพ้นไปได้ด้วยกัน
ด้าน นาย สุเทพ ไทรย้อย อายุ 56 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ เล่าว่า ชาวบ้านในชุมชนถ้าน้ำมาเป็นท่วม เพราะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ติดกับแม่น้ำน้อย ตอนแรกคิดว่าจะน้อย คงไม่เท่าปี 54 แต่เชื่อว่าปีนี้น้ำต้องมาเยอะ เพราะยังขึ้นอยู่เรื่อยๆ วันนี้ก็ขึ้น 5 นิ้ว ส่วนความลำบากแทบทุกอย่าง ทั้งการสัญจร การออกไปซื้อข้าวของเครื่องใช้ ลำบาก บางบ้านขับถ่ายลำบาก ที่นอนก็ต้องหาไม้มาหนุนที่นอนให้สูง บ้างก็เอาไม้มาหนุนหน้าต่างนอน จะอันตรายก็มีแมลงสัตว์กัดต่อย รวมถึงบางบ้านก็มีเรือ บางบ้านก็ไม่มี เพราะหลายๆคนรายได้ก็น้อย แต่ก็ดีใจที่มีหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือเหมือนวันนี้ บรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเบาบางลงไปได้บ้าง