ข่าวทั่วไปข่าวพาดหัวตรวจเยี่ยมอุทกภัย

ร้อยเอ็ด – ผวจ.ร้อยเอ็ด นำส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำ เตรียมการช่วยเหลือชาวร้อยเอ็ดที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่อำเภอทุ่งเขาหลวง และอำเภอเสลภูมิ

ผวจ.ร้อยเอ็ด นำส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำ เตรียมการช่วยเหลือชาวร้อยเอ็ดที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่อำเภอทุ่งเขาหลวง และอำเภอเสลภูมิ

วันที่ 9 ตุลาคม 2564 เวลา 09.30 น. นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำ เตรียมการช่วยเหลือชาวร้อยเอ็ดที่ได้รับผลกระทบจากอุุทกภัย โดยมี พลตรีวรเชษฐ์ ชวนะนรเศรษฐ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 27 , ณ บ้านมะแว ตำบลบึงงาม อำเภอทุ่งเขาหลวง , บ้านอีโก่ม ตำบลเทอดไทย อำเภอทุ่งเขาหลวง และสะพานบ้านไชยวาน ตำบลนาเลิง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

จังหวัดร้อยเอ็ด มีนโยบายให้แก่นายอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่เสี่ยงทั้ง 8 อำเภอ ที่มีลำน้ำชีไหลผ่าน ประกอบด้วย อำเภอจังหาร อำเภอเชียงขวัญ อำเภอธวัชบุรี อำเภอโพธิ์ชัย อำเภอเสลภูมิ อำเภอทุ่งเขาหลวง อำเภอพนมไพร และอำเภออาสามารถ ในการติดตามสถานการณ์น้ำ การป้องกันและแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัย เพื่อเฝ้าระวังเตรียมความพร้อมรับมือมวลน้ำที่ไหลผ่านลำช้ำชีมา ซึ่งปัจจุบันน้ำได้ไหลบ่าเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำสองฝั่งลำน้ำชีเขตอำเภอโกสุมพิสัย , อำเภอกันทรวิชัย ของจังหวัดมหาสารคาม และเริ่มเอ่อล้นบริเวณริมลำน้ำชี อำเภอฆ้องชัย ของจังหวัดกาฬสินธุ์ และมวลน้ำดังกล่าวจะไหลเข้าสู่พื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด โดยขณะนี้จังหวัดร้อยเอ็ดได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย ในเขตพื้นที่อำเภอเชียงขวัญ จำนวน 2 ตำบล 10 หมู่บ้าน ประกอบด้วย ตำบลเชียงขวัญ หมู่ที่ 1,2,3,5,9,10 มีประชาชนได้รับความเดือดร้อน จำนวน 73 ราย และตำบลพระธาตุ หมู่ที่ 1,2,3,8 มีประชาชนได้รับความเดือดร้อน จำนวน 81 ราย และมีพื้นที่การเกษตร (นาข้าว) ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยถูกน้ำท่วมขัง ข้าวที่กำลังตั้งท้อง ประมาณ 1,158 ไร่ เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน จำนวน 154 ราย

นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า การลงพื้นที่มาติดตามสถานการณ์น้ำในวันนี้ เพื่อมาเน้นย้ำในการแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มน้ำชีที่เป็นพื้นที่เสี่ยง ให้เก็บสิ่งของขึ้นที่สูง และเคลื่อนย้ายกลุ่มเปราะบาง ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ ออกไปอยู่ในที่ปลอดภัย จัดเตรียมศูนย์พักพิงให้พร้อม โดยทุกหน่วยงานจะต้องสนับสนุนช่วยเหลือ ระดมสรรพกำลังต่างๆ และติดต่อสื่อสารกันตลอด 24 ชั่วโมง และหากเกิดอุทกภัยให้ดำเนินการสำรวจประชากรครัวเรือน การเกษตร ประมง ปศุสัตว์ที่ได้รับผลกระทบ โดยต้องเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน