ปทุมธานีปชช.ลุยน้ำร่วมตักบาตรพระร้อยวัดแรกหลังออกพรรษา
เมื่อเวลา 07.30 น. วันที่ 22 ต.ค.64 นาย ดรณ์ สมิตะเกษตริน ปลัดจังหวัดปทุมธานี นายสายัณ นพขำ นายกเทศบาลตำบลบ้านกลาง นายพิษณุ ประภาธนานันท์ นายอำเภอเมืองปทุมธานี พร้อมข้าราชการพ่อค้า ประชาชนจำนวนมาก ร่วมประเพณีทำบุญตักบาตรพระร้อยทางเรือ อนุรักษ์ประเพณีดั้งเดิมในเทศกาลวันออกพรรษา ที่วัดมะขาม ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว และติดกับวัดศาลเจ้าที่มีตลาดน้ำสำคัญของจังหวัดปทุมธานี
ประเพณีตักบาตรพระร้อยในเทศกาลวันออกพรรษาตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 การตักบาตรพระร้อยเป็นประเพณีของวัดที่อยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งแม่น้ำ โดยจะตกลงกำหนดแบ่งกันเป็นเจ้าภาพเพื่อไม่ให้ตรงกัน เพราะถ้าตรงกันแล้วจำนวนพระที่มารับบิณฑบาตจะได้ไม่ครบ 100 รูป และต้องการให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายรู้กำหนดเวลา จะได้เตรียมจัดทำอาหารหวานคาวไว้ทำบุญตักบาตรได้ถูกต้อง
ด้านนายสายัณ นพขำ นายกเทศบาลตำบลบ้านกลาง กล่าวว่า ประเพณีตักบาตรพระร้อยเป็นหน้าที่ของวัดที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะมีเฉพาะในวัดใหญ่ ๆ ตามที่ยึดถือกันมาแต่ดั้งเดิมเพราะว่าต้องนิมนต์พระภิกษุมาเป็นจำนวนมาก ประชาชนที่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาเข้ามาร่วมงานเพื่อความเป็นสิริมงคล ทั้งนี้ ประเพณีตักบาตรพระร้อยเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ของจังหวัดปทุมธานี โดยกำหนดให้วันแรม 1 ค่ำ ทำบุญตักบาตรที่วัดมะขาม วันแรม 2 ค่ำ ทำบุญตักบาตรที่วัดหงษ์ปทุมาวาส อ.เมือง และวันถัดไปแล้วแต่จะกำหนดกันซึ่งอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ตามความพร้อมของวัดนั้น ๆ
ด้าน นาย ธีระ ช่างเกตุ อายุ 66 ปี ชาวบ้านตำบลบ้านกลาง กล่าวว่าตนทำขนมกงมาตัดบาตร ขนมกงจะนิยมใช่ช่วงออกพรรษาอยางเช่นตักบาตรพระร้อย ขนมกง” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ขนมกงเกวียน” เป็นขนมไทยโบราณ มีลักษณะเป็นวงกลมและมีเส้นไขว้พาดกันคล้ายรูปล้อเกวียน มีความหมายเป็นสิริมงคล หมายถึงการหมุนไปข้างหน้า หรือการก้าวไปข้างหน้า เช่นเดียวกับพระธรรมจักร จึงนิยมใช้ในพิธีแต่งงาน เพื่อแทนความหมายให้คู่บ่าวสาวครองคู่อยู่ชั่วนิจนิรันดร์