โรงเรียนศาสตร์พระราชา พลิกวิกฤติ ปลูกเมล่อน นักเรียน จับเงินหมื่น
วันที่ 16 พ.ย.64 ดร.กัมพล ไชยนันท์ ผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 (เวียงเก่าแสนภูวิทยาประสาท) อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ที่ปรึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมครู และนักเรียน ร่วมกิจกรรมตัดผลเมล่อน ณ โรงเรือนปลูกเมล่อน โรงเรียนศาสตร์พระราชา วิทยาเขตกู่เต้า ต.โยนก อ.เชียงแสน ที่ร่วมกันปลูกเมล่อนไว้เมื่อเดือนสิงหาคม ได้มาร่วมตัดผลเมล่อนกันอย่างคึกคัก
ดร.กัมพล เปิดเผยว่า สภานักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 คณะครูที่ปรึกษาโครงการ ได้ให้นักเรียนเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ฝึกทักษะการปฏิบัติจริง ทางโรงเรียนได้รับอนุเคราะห์ จากแผนกองทุนเพื่ออาชีพสำหรับนักเรียน ของมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ และอาจารย์อัมพร ไชยบุตร เป็นวิทยากรถ่ายทอด ความรู้ ทักษะ ในการปลูกต้นกล้าเมล่อน การดูแลบำรุงรักษา การควบคุมคุณภาพผลผลิต และการตลาดครบวงจร ภายใต้แนวคิด โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา(Partnership School Project) พัฒนาแหล่งเรียนรู้ขจัดความยากจน
ดร.กัมพล กล่าวอีกว่า โรงเรือนที่ปลูกเมล่อน มีขนาด 6X12 เมตร ปลูกเมล่อนใช้เวลา 90 วัน มีผู้ร่วมปลูกและจองเมล่อน 120 ราย ซึ่งวันนี้มีลูกเมล่อนขนาดน้ำหนักถึง 3 กก. โดยเฉลี่ยแล้วจะมีน้ำหนักประมาณ 2 กก. ซึ่งต้นเมล่อนชอบแสงแดดจัด การเจริญเติบโตจะดี ปัจจุบันราคาเมล่อนราคา กิโลละ 100 บาท เพียง 1 โรงเรือนจะสร้างรายได้ 25,000 บาท และผลเมล่อนออกมามียอดจองหมด ผลเมล่อนของโรงเรียนศาสตร์พระราชาวิทยาเขตกู่เต้า จะใช้พ่นด้วยน้ำกระเทียม กับด่างทับทิม หลังจากเก็บผลเมล่อน ทางทีมงานโรงเรียนจะให้นักเรียนปลูกบัตเตอร์นัท ต่อไปนักเรียนจะได้นำความรู้จากการปฏิบัติจริงไปใช้ได้ในอนาคต
ดร.กัมพล กล่าวด้วยว่าและเมื่อวันที่ 1-3 พฤศจิกายน 2564 ทางโรงเรียนได้ให้ นายสมัย ทะจันทร์ รองผู้อำนวยการ นายชนะพันธ์ ถาวรผู้ช่วยผู้อำนวยการ และทีมงานโรงเรียนศาสตร์พระราชา วิทยาเขตกู่เต้าโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 (เวียงเก่าแสนภูวิทยาประสาท) ปฏิบัติกิจกรรม จิตอาสา ก่อสร้างโรงเรือนปลูกเมล่อนอีก จำนวน 1 หลัง ให้กับโรงเรียนบ้านป่าซางเหนือ อ.เวียงเชียงรุ้ง สพป.เชียงรายเขต 1 เป็นหลังที่2 และโรงเรือนปลูกเมล่อนและบัตเตอร์นัท แห่งที่ 2 ของโรงเรียนบ้านขี้เหล็กดอยดินแดง สพป.ชร.3 ซึ่งเป็น โรงเรียนในกลุ่มเครือข่าย โรงเรียนร่วมพัฒนา รปค.15 ภายใต้แนวคิด “โรงเรียนแห่งการแบ่งปัน และเรียนรู้ร่วมกัน”
นอกจากนี้ทางโรงเรียนยังมีห้องเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช มีการย้ายต้นสตรอเบอรี่ลงในภาชนะที่บรรจุอาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อชักนำการเกิดราก ซึ่งนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 รายวิชาการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ โดยเป็นบรรยากาศทางวิชาการที่เกิดขึ้นภายใต้การปรับเปลี่ยนการจัดการเรียน การสอน โรงเรียนราชประชานุเคราะห์15 (เวียงเก่าแสนภูวิทยาประสาท) “โรงเรียนแห่งความสุข”
ปัญธิพงศ์ ศิริโชคธนากูล / จ.เชียงราย รายงาน