ข่าวทั่วไปข่าวพาดหัว

ประจวบฯ – จัดพิธีน้อมรำลึกวันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า หรือ วันวชิราวุธ

ประจวบจัดพิธีน้อมรำลึกวันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า หรือ วันวชิราวุธ


วันที่ 25 พ.ย.64 ที่บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 6 โรงเรียนประจวบวิทยาลัย อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานในการประกอบพิธี วันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ประจำปี พ.ศ.2564 เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันคล้ายวันเสด็จสวรรคต ซึ่งนายมังกรแก้ว ดรุณศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาประจวบคีรีขันธ์ เขต 1 จัดขึ้น โดยมีลูกเสือ เนตรนารี ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ บุคลากรทางการลูกเสือ และหน่วยงานต่างๆเข้าร่วมพิธีโดยพร้อมเพรียง
ทั้งนี้วันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี หรือที่เราเรียกว่า วันวชิราวุธ เป็นวันคล้ายวันเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งนับเป็นอีกวันหนึ่งที่สำคัญของประชาชนชาวไทยที่จะได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทย ที่ทรงเปี่ยมล้นไปด้วยพระปรีชาสามารถ ตลอดระยะเวลา 15 ปี แห่งการครองราชย์ พระองค์ทรง

ประกอบพระราชกรณียกิจที่เป็นประโยชน์ต่อพสกนิกรชาวไทยและต่อประเทศชาติมากมาย ด้วยน้ำพระทัยที่เต็มเปี่ยมด้วยความเมตตาปรารถนาให้มีความสงบสุขร่มเย็น อีกทั้งสานต่อพระราชกรณียกิจของพระบรมชนกนาถที่ยังไม่สำเร็จลงได้อย่างดียิ่ง พระองค์ทรงได้รับพระราชสมัญญานามว่า สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า เพราะทรงเป็นปราชญ์ทางอักษรศาสตร์ที่ยอดเยี่ยมในเชิงกวีนิพนธ์


อีกทั้ง พระองค์ได้ทรงริเริ่มตั้งกองลูกเสือขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2454 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะปลูกฝังความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และส่งเสริมความสามัคคี มานะ อดทน เสียสละ เพื่อส่วนรวม และได้พระราชทานคติพจน์ให้แก่คณะลูกเสือว่า”เสียชีพอย่าเสียสัตย์” พระองค์จึงทรงเป็นพระผู้ก่อกำเนิดลูกเสือไทย ซึ่งปรากฏว่า กิจการลูกเสือได้เจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ บังเกิดคุณประโยชน์ต่อเยาวชนและประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง


นอกจากนี้ พระราชกรณียกิจที่สำคัญ คือ ทรงจัดการทหารใหม่ให้เป็นไปตามแบบการทหารในยุโรป ทรงประกาศสงครามกับเยอรมนีและส่งทหารเข้าร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 ทรงพระราชทานพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ.2464 เป็นฉบับแรก สาระสำคัญคือ ให้เด็กทุกคนต้องเรียนหนังสือตั้งแต่อายุ 7 ขวบถึง 14 ปี โดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน ทรงตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้นใช้ครั้งแรก และทรงประกาศใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย////
พิสิษฐ์รื่นเกษมข่าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์โทร 099 339 6444