ข่าวทั่วไปข่าวพาดหัวลักลอบเข้าประเทศ

พิษณุโลก – การป้องกันโรคโควิด-19 ผ่านกลไกความมั่นคงชายแดน ในระดับคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น (Township Border Committee : TBC) ในพื้นที่กองทัพภาคที่ 3

การป้องกันโรคโควิด-19 ผ่านกลไกความมั่นคงชายแดน ในระดับคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น (Township Border Committee : TBC) ในพื้นที่กองทัพภาคที่ 3

ตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานด้านความมั่นคง โดยบูรณาการหน่วยงานที่มีภารกิจและอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และสกัดกั้นบุคคลต่างด้าวหลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของชาติ


ประกอบกับที่รัฐบาลได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร โดยมีข้อกำหนดตามกรอบพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป และศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้พิจารณาให้ระงับการใช้ช่องทางการเข้าออกประเทศในทุกพื้นที่ที่มีเขตติดต่อชายแดน เพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 มาจนถึงปัจจุบัน
ในการนี้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการ กองทัพภาคที่ 3 ได้กำชับให้ทุกหน่วยที่มีพื้นที่ตามแนวชายแดน ได้เฝ้าระวังการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายของกลุ่มแรงงานต่างด้าว รวมไปถึงคนไทยที่ไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน และลักลอบกลับเข้ามาใน

ประเทศไทย เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างจริงจัง จึงได้ใช้กลไกความมั่นคงชายแดนไทย – เมียนมา ในส่วนที่กองทัพภาคที่ 3 รับผิดชอบ ประกอบด้วยคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee : RBC) และคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น (Township Border Committee : TBC) ที่เกิดขึ้นตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการฯ RBC ลง 9 เมษายน 2533 โดยจะเห็นได้ว่ากลไกความมั่นคงชายแดนไทย – เมียนมา ที่มีอยู่ในปัจจุบัน มิได้มีความเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาความมั่นคงทางทหารเท่านั้น ยังคงรวมไปถึงการเสริมสร้าง ความร่วมมือไทย – เมียนมา ในด้านการค้าชายแดน การท่องเที่ยว การศึกษา การบรรเทาสาธารณภัย และด้านอื่นๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่องานการรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย ตามพื้นที่ชายแดนไทย – เมียนมา ซึ่งต้องมีภาครัฐและเอกชน ของทั้ง 2 ประเทศเข้าร่วมดำเนินการด้วย ซึ่งในระดับคณะกรรมการฯ TBC ในพื้นที่ กองทัพภาคที่ 3 ประกอบด้วย
1) พื้นที่จังหวัดเชียงราย มีคณะกรรมการฯ TBC แม่สาย – ท่าขี้เหล็ก
2) พื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีคณะกรรมการฯ TBC แม่ฮ่องสอน – ลอยก่อ
3) พื้นที่จังหวัดตาก มีคณะกรรมการฯ TBC แม่สอด – เมียวดี
โดยห้วงวันที่ 1-7 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ TBC แม่สาย – ท่าขี้เหล็ก และคณะกรรมการฯ แม่สอด – เมียวดี ได้ประสานขอความร่วมมือ เพื่ออำนวยความสะดวกในการผลักดันคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา (ผู้ต้องกัก) ออกนอกราชอาณาจักร จำนวน 1,112 คน ณ จุดผ่านแดนถาวร สะพานมิตรภาพ ไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
สรุปผลการดำเนินการ คณะกรรมการฯ TBC แม่สาย – ท่าขี้เหล็ก และคณะกรรมการฯ TBC แม่สอด – เมียวดี เพื่ออำนวยความสะดวกในการผลักดันคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา (ผู้ต้องกัก) ออกนอกราชอาณาจักร ตั้งแต่ 23 พฤษภาคม 2563 ถึง 7 ธันวาคม 2564 จำนวนทั้งสิ้น 89,770 คน รายละเอียดดังนี้


1. กองกำลังนเรศวร ผ่านช่องทางสะพานมิตรภาพ ไทย – เมียนมา แห่งที่ 2 อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จำนวน 88,591 คน
2. กองกำลังผาเมือง ผ่านจุดผ่านแดนถาวรบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำสาย (สะพานแห่งที่ 2) อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย จำนวน 1,179 คน
ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนพบเห็นการนำพาแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย หรือมีเบาะแสข้อมูลที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมาย ขอความกรุณาได้แจ้งแก่เจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในการปราบปรามและการสกัดกั้นอย่างเป็นรูปธรรมตามกฎหมาย อีกทั้งหากพี่น้องประชาชนมีความประสงค์จะส่งข้อมูลเกี่ยวข้องเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมาย ให้กับ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 สามารถส่งข้อมูลผ่านระบบ Applications Line ชื่อ “สายตรงแม่ทัพภาคที่ 3” ID Line : ISOC3 เพื่อรับทราบข้อมูลและนำไปสู่การปฏิบัติตามกรอบของกฎหมาย สร้างความมั่นคงให้สังคมไทยสืบไป

********************************
คณะบรรณาธิการข่าว กองทัพภาคที่ 3
9 ธันวาคม 2564
ปรีชา นุตจรัส รายงานข่าวพิษณุโลก