ปทุมธานีปธ.เอสเอ็มอีฯ เสนอทบทวนการขึ้นค่าจ้าง หรือขึ้นค่าจ้างเฉพาะเอกชนรายใหญ่ก่อน
วันที่ 8 กพ. 65 ประธานเครือข่ายเอสเอ็มรุ่นใหม่ นายธีรวงศ์ สรรค์พิพัฒน์ ได้ให้ความเห็นถึงการที่ รมว.กระทรวงแรงงานพิจารณาและยื่นเรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำภายในประเทศจากอัตรา เดิม 331 บาท(กทม.และปริมณฑล) เป็นอัตราใหม่ที่ 492 บาทนั้น ว่าเป็นการขึ้นถึงประมาณ 48.5 เปอร์เซนต์
ซึ่งเป็นอัตราที่สูงขึ้นเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันจะยังไม่สัมพันธ์กับค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น นับตั้งแต่ปรากฎการณ์ “วิกฤติราคาหมูแพง” แต่เอสเอ็มอีอาจต้องปิดกิจการไปอีกหลายรายเพราะการขึ้นแบบบันดาลโทสะในครั้งนี้(ถ้าอนุมัติ) ซึ่งทางรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรมีแนวทางการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพและตรงจุดมากยิ่งขึ้น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นเรื่องดีต่อแรงงานทั่วไป แต่ต้องอยู่ในอัตราที่เหมาะสม และไม่สร้างภาระให้ผู้ประกอบและเกิดผลกระทบอย่างมากเกินไป ซึ่งจะส่งผลเสียหายโดยตรงต่อเศรษฐกิจภายในประเทศโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนี้
1. ธุรกิจเอสเอ็มอีจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นโดยตรง เพราะต้นทุนส่วนใหญ่มาจากค่าแรง และไม่มีทุนเพียงพอที่จะรองรับต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างทันที
2. เงินเฟ้อ และค่าครองชีพจะสูงขึ้น ทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสในการแข่งขัน และส่งออกจากราคาสินค้าที่สูงขึ้น
3. ค่าแรงที่ถูกปรับสูงขึ้นจะไม่เป็นเพียงแค่ค่าแรงขั้นต่ำ โดยระดับหัวหน้า ผู้บริหาร หรือแรงงานที่ได้ค่าแรงสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำจะมีความจำเป็นต้องปรับสูงขึ้นในทางปฏิบัติ
4. ค่าแรงขั้นต่ำที่เท่ากันทั่วประเทศจะทำให้การขยายตัวกระจุกอยู่ในเมือง และเพิ่มปัญหาให้กับการกระจายรายได้ เพราะในจังหวัดที่ไกลกว่าในทางการขนส่งควรได้รับค่าจ้างที่ต่ำกว่าในการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ห่างไกล
มาตรการทางเศรษฐกิจที่ดีของรัฐบาลจึงควรเป็นดังนี้
1. พิจารณาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในช่วงที่เศรษฐกิจในประเทศกำลังขยายตัว ไม่ใช่ในระหว่างวิกฤติ
หรือภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ
2. ควบคุมวิกฤตราคาสินค้าให้มีประสิทธิภาพ และตอบสนองฉับไวกับปัญหาเร่งด่วน โดยเฉพาะราคาสินค้าที่ส่งผลต่อค่าครองชีพโดยตรง เช่น น้ำมัน สินค้าการเกษตร เนื้อสัตว์
การตอบสนองที่ไม่ทันท่วงทีและนโยบายที่ไม่มีประสิทธิภาพจะทำให้การควบคุมราคายากยิ่งขึ้นไปในทุกๆช่วงเวลา ซึ่งขณะนี้ประชาชนกำลังเดือดร้อนและทนทุกข์อย่างแสนสาหัส
3. นโยบายการลดดอกเบี้ยทั้งเงินกู้ personal loan, car for cash, บัตรเครดิต เงินกู้เอสเอ็มอี ฯลฯ ยิ่งการคิดดอกเบี้ยโดยอ้างถึงการไม่มีหลักประกันการกู้เป็นเรื่องไม่สมเหตุผล เพราะ เมื่อไม่มีหลักประกันควรลดวงเงินการกู้ หรือพิจารณาจากเครดิตบูโร การเดินบัญชีได้ ไม่ใช่เอาค่าเฉลี่ย ความเสี่ยงหนี้สูญไปคิดแบบเหมารวมแบบมักง่ายและคงสถานะความได้เปรียบของสถาบันการเงินผู้ปล่อยกู้โดยไม่คำนึงถึงความลำบากของประชาชน
4. ลดอัตราการจัดเก็บภาษีรายได้และมูลค่าเพิ่ม หรือผ่อนปรนการชำระโดยปลอดดอกเบี้ย เพราะเอสเอ็มอีจะฟื้นได้เมื่อมีเงินทุนสำรอง เมื่อมีวิกฤติไม่สามารถกู้ใหม่ได้ก็ต้องใช้เงินที่จะทำการชำระเจ้าหนี้มาหมุนเวียนเพิ่มสภาพคล่อง
5. ค่าแรงขั้นต่ำเมื่อมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นให้พิจารณาปรับขึ้นในองค์กรของรัฐ และเอกชนรายใหญ่ที่มีรายได้เกิน 100 ล้านบาทก่อนเป็นอันดับแรก และปรับขึ้นเป็นขั้นบันไดโดยประกาศล่วงหน้าถึงความชัดเจนในอัตรา และระยะเวลาที่จะทำการขึ้นแบบขั้นบันไดดังกล่าวเพื่อให้เอสเอ็มอีได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ทั้งนี้เชื่อว่ารัฐบาลจะไม่แก้ปัญหาแบบไม่วิเคราะห์บนพื้นฐานตัวเลข ราคาค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วที่ผ่านมาไม่ใช่ความผิดของเอสเอ็มอี